
เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นประธานประชุมด่วนผู้ให้บริการเครือข่าย 3 ค่าย เพื่อหารือซักซ้อมและปรับกระบวนการส่งข้อมูลให้กับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เพื่อแจ้งเตือนภัยให้แก่ประชาชนผ่านระบบข้อความสั้น (SMS) และระบบ Cell Broadcast โดยมีผู้แทนบริษัท เอไอเอส จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) เข้าร่วมการประชุม
นายภาสกร เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการพูดคุยร่วมกันระหว่างกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่แจ้งเตือนภัย กับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั้ง 3 ค่าย ในการเซ็ตกระบวนการทำงานร่วมกันให้มีประสิทธิภาพ โดยในระหว่างที่รอการพัฒนาระบบ Cell Broadcast ให้ครบสมบูรณ์และพร้อมใช้งานเต็มรูปแบบ ปภ. และผู้ให้บริการเครือข่ายได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติร่วมกันที่ชัดเจนในกระบวนการแจ้งเตือนภัยผ่าน SMS และ Virtual Cell Broadcast ทั้งกรณีแผ่นดินไหวและภัยพิบัติอื่น ๆ

“ปภ.เราเดินหน้าเต็มที่ในการทำให้ระบบการแจ้งเตือนภัยมีประสิทธิภาพและเข้าถึงพี่น้องประชาชนทุกคน เพื่อให้ทุกคนทราบสถานการณ์และปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง โดย ปภ. ได้เตรียมแผนรองรับเหตุฉุกเฉิน (emergency case) เพื่อให้การประสานงานร่วมกันกับทุกหน่วยงานในการแจ้งเตือนภัยไปยังพี่น้องประชาชนเป็นไปได้อย่างต่อเนื่องตามแนวทางการปฏิบัติงาน (SOP) ที่กำหนดไว้ โดยในวันนี้ทาง ปภ. จะเดินทางไปทดสอบระบบ Cell Broadcast ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนถึงความพร้อมในการแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์มือถือด้วยระบบ Cell Broadcast” นายภาสกร อธิบดี ปภ. กล่าว
ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติงานด้านการแจ้งเตือนภัยให้แก่ประชาชนมีประสิทธิภาพ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานสอดประสานกันได้อย่างเป็นระบบ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ตั้งคณะทำงาน (เฉพาะกิจ) เพื่อจัดทำแนวทางการปฏิบัติงาน (SOP) ในการแจ้งเตือนภัยเพิ่มเติม เพื่อให้ครอบคลุมทั้ง 7 ประเภทภัยหลักที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงภัยจากแผ่นดินไหวด้วย

ต่อมาเวลา 14.00 น. นายภาสกร พร้อมคณะ ร่วมทดสอบการแจ้งเตือนภัยด้วยระบบ Cell Broadcast ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ซึ่งผลการทดสอบชี้ให้เห็นว่าการแจ้งเตือนภัยด้วยระบบ Cell Broadcast มีประสิทธิภาพ สามารถแจ้งเตือนภัยไปยังโทรศัพท์มือถือในพื้นที่ที่กำหนดได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว
ด้าน NT ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเองมีความพร้อมในการดำเนินการ ทำให้คาดการณ์ว่าจะสามารถเปิดใช้งานระบบการแจ้งเตือนภัยด้วย Cell Broadcast อย่างเต็มรูปแบบได้ทันตามเวลาที่กำหนด
