นายกฯชื่นชมกสศ.ช่วยเด็กยากจน 3.5 ล้านคนไม่ให้หลุดนอกระบบการศึกษา

เมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) รายงานผลการดำเนินงานต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ผ่านนิทรรศการหลักประกันโอกาสทางการศึกษา 20 ปี ไร้รอยต่อ และการส่งเสริมทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ผ่านโครงการขยายผลและพัฒนาความร่วมมือสร้างเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาค หรือ Equity Partnership’s School Network จาความร่วมมือนักเรียนทุนเสมอภาคกับเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติโดยมี นายพงศกร อาสาพิทักษ์ไพร หรือ น้องแดง เจ้าของจดหมายลาครูที่เคยโด่งดังในโซเชียล เพราะต้องลาโรงเรียนไปช่วยพ่อแม่ทำงาน เป็นตัวแทนนักเรียนทุนเสมอภาคที่ได้รับการศึกษาต่อเนื่อง เข้าพบนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งปัจจุบันน้องแดงกำลังศึกษาอยู่ระดับชั้น ม.5 และมีครูบอย นายนพรัตน์ เจริญผล จากอำเภอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่  ที่ติดตามน้องแดง ให้กลับมาเรียน เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ร่วมด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวทักทายและกอดน้องแดงหลังจากที่เคยพบกันที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ว่าให้ตั้งใจเรียน พร้อมฝากครูบอยให้ดูแลเด็กนักเรียน พาเด็ก ๆ ที่ขาดโอกาสให้กลับมาเรียนต่อ นายกรัฐมนตรี ยังให้กำลังใจและชื่นชมผลงานนักเรียนภายใต้โครงการ Equity Partnership’s School Network ว่าเป็นต้นแบบสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาและส่งเสริมทักษะชีวิตระหว่างเรียน โดยได้ทดลองทำการพิมพ์ผ้าจากสีธรรมชาติด้วยวิธีการทุบใบสักทองลงบนผ้า พร้อมสอบถามถึงการพัฒนาลวดลายอื่น ๆ และการดูแลคุณภาพด้วยความสนใจ

“โครงการนี้เป็นต้นแบบการสร้างโอกาสทางการศึกษาผ่านความร่วมมือจากสังคม รวมทั้งการพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์และการใช้เทคโนโลยี โดยหวังว่าโครงการฯ จะช่วยพัฒนาทักษะของนักเรียนให้สามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพเพื่อสร้างรายได้ในอนาคตได้อย่างยั่งยืน และหากสามารถขยายผลโครงการลักษณะนี้ได้อย่างต่อเนื่อง จะช่วยลดช่องว่างในสังคม เพิ่มโอกาสให้เด็กได้รับการพัฒนาศักยภาพของตนเองมากขึ้น โดยไม่มีเด็กคนไหนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง นับเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เป็นความร่วมมือร่วมใจจากหลากหลายภาคส่วนในการระดมความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ เติมเต็มความรู้ ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพให้กับเด็ก ๆ”นายกฯกล่าว

สำหรับ ผู้ที่สนใจ สามารถเลือกซื้อผลงานนักเรียนในโครงการฯ ได้บนแพลตฟอร์ม Shopee โดยรายได้ทั้งหมดมอบให้กับนักเรียนทุนเสมอภาคในโครงการโดยไม่หักค่าใช้จ่าย เพื่อให้เด็ก ๆ นำไปต่อยอดเพื่อส่งเสริมด้านการพัฒนาทักษะอาชีพในอนาคต

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา รวมถึงดูแลนักเรียนนักศึกษาผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ด้อยโอกาสผ่าน กสศ.  ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานกว่า 5 ปี สามารถสร้างระบบหลักประกันโอกาสการศึกษา โดยป้องกันเด็กและเยาวชนกว่า 3.5 ล้านคน ไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา และมีระบบส่งต่อให้ศึกษาสูงกว่าภาคบังคับจนถึงอุดมศึกษาหรือสายอาชีพ เพื่อขจัดวงจรความยากจนข้ามรุ่น นอกจากนี้ยังสามารถช่วยเด็กและเยาวชนนอกระบบกว่า 40,000 คน ได้กลับเข้าสู่การเรียนรู้และพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพที่ตอบโจทย์ชีวิตตามศักยภาพและความถนัดเป็นรายบุคคล เพื่อให้มีงานทำมีอาชีพที่สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้

ดร.ไกรยส กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจสถานการณ์นักเรียนยากจนพิเศษ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563-2565 พบว่า มีนักเรียนยากจนพิเศษในระดับการศึกษาภาคบังคับเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โดยในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 มีนักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 994,428 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 มีจำนวน 1,174,444 คน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 มีจำนวน 1,244,591 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 มีจำนวน 1,301,366 คน และล่าสุดในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 มีจำนวนมากถึง 1,307,152 คน 

 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากช่วงเวลาและตัวเลขดัชนีทางเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาของโรคระบาดโควิด-19 พบว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวเลขนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้น มีแนวโน้มว่ามาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากมาตรการป้องกันต่าง ๆ และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น โดยพบภาวะยากจนเฉียบพลันของประชากรและรายได้ต่อครัวเรือนลดลงต่อเนื่อง โดยตัวเลขล่าสุดในภาคเรียนที่ 1 ของปี 2565 พบว่ารายได้เฉลี่ยของครอบครัวนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษอยู่ที่ 1,044 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นวันละ 34 บาทเท่านั้น ซึ่งมีนักเรียนกว่า 1.3 ล้านคน ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค) จาก กสศ. และนักเรียนยากจนอีก 1.8 ล้านคน กสศ. ได้สนับสนุนผลการคัดกรองให้ต้นสังกัดจัดสรรทรัพยากรเพิ่มเติม

“อย่างไรก็ตามการสำรวจของ กสศ. พบว่า สวัสดิการที่รัฐบาลสนับสนุนช่วยเหลือถึงมือครัวเรือนนักเรียนยากจนพิเศษอย่างแท้จริงและเป็นแหล่งรายได้พึ่งพิงในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา โดยจากการศึกษาถึงแหล่งรายได้ของครอบครัวนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 พบว่ารายได้ของผู้ปกครองร้อยละ 59 มาจากสวัสดิการรัฐและเอกชน รองลงมาร้อยละ 53.9 คือเงินเดือนหรือค่าจ้าง และรายได้จากการเกษตรคิดเป็นร้อยละ 42.4 ตามลำดับ” ผู้จัดการ กสศ.กล่าว

ดร.ไกรยส กล่าวว่า เงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไขหรือทุนเสมอภาค เป็นหนึ่งในมาตรการของรัฐบาลผ่านการทำงานของ กสศ. ความก้าวหน้าสำคัญที่ผ่านมาตั้งแต่ในปีการศึกษา 2561 มีนักเรียนชั้น ม.3 ได้รับทุนเสมอภาคจาก กสศ. และทุนอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานฯ จาก สพฐ. รวม 148,021 คน โดยปีการศึกษา 2564 พบว่านักเรียนกลุ่มนี้เรียนอยู่ชั้น ม.6 จำนวน 62,042 คน และ กสศ. ได้เชื่อมโยงข้อมูลนักเรียนที่เข้าศึกษาต่อผ่านระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS) ปีการศึกษา 2565 พบว่ามีเด็กที่ได้รับความช่วยเหลือจากการคัดกรองนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษของ กสศ. เมื่อปีการศึกษา 2561 ยืนยันสิทธิ์ผ่านระบบ TCAS ในปีการศึกษา 2565 จำนวน 20,018 คน กระจายอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 75 แห่ง

“สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ได้ใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ในการประเมินว่าหากเด็กนักเรียนทั้ง 20,018 คน สามารถสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จะทำให้รายได้ตลอดช่วงชีวิตของพวกเขาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นถึง 66,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.3 ล้านบาทต่อคน เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขถ้าพวกเขาสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย การศึกษาที่สูงขึ้นจะส่งผลต่อรายได้ที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของทางออกจากกับดักความยากจน”ดร.ไกรยส กล่าว

ดร.ไกรยส กล่าวอีกว่า หากคำนวณเพียงต้นทุนที่ต้องสนับสนุนให้เด็ก ๆ สามารถเรียนจนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีได้ในภาพรวม อยู่ที่ประมาณ 8,200 ล้านบาท หรือคิดเป็น 410,000 บาทต่อคน ซึ่งคิดเป็นผลตอบแทนกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 7 เท่า หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนของการลงทุนแบบ IRR อยู่ที่ประมาณร้อยละ 9 ซึ่งถือว่าสูงมากหากเทียบเคียงกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้า และยังสูงกว่าต้นทุนทางการเงินของรัฐประมาณร้อยละ 2.7

อย่างไรก็ตาม จากภาพรวมของสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และความคุ้มค่าในการลงทุนที่ตอบโจทย์แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และหมุดหมายที่ 12 ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต คณะกรรมการบริหาร กสศ. จึงเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแผนการใช้เงินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงินงบประมาณจำนวน 7,985786,100 บาท เพื่อลดผลกระทบทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย กสศ. ได้เตรียมแผนเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนทุนเสมอภาคให้กับนักเรียนยากจนพิเศษ 1.3 ล้านคน เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพประชาชนและอัตราเงินเฟ้อต่อไป

Message us