ธปท.ออกแถลงการณ์ร่วมฟื้นความเชื่อมั่นด้านศก.-การเงินหลังเหตุแผ่นดินไหว

เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2568 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมสถานการณ์ภาคเศรษฐกิจจริง และระบบทางการเงินจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 โดยมีเนื้อหาดังนี้

ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศไทยเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 28 มี.ค.2568 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้สาธารณชนมีความกังวลต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อภาคเศรษฐกิจ และระบบทางการเงินของไทย เพื่อเป็นการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน และครบถ้วน หน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้องในด้านเศรษฐกิจ และการเงินทั้งภาครัฐ และเอกชน จึงได้ร่วมกันจัดแถลงการณ์ร่วมเพื่อให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านความปลอดภัยทางวิศวกรรม ด้านภาคการผลิต การส่งออก และการท่องเที่ยว รวมทั้งด้านตลาดเงิน และตลาดทุนมาพร้อมกัน เพื่อนำเสนอสถานการณ์ และข้อมูลเพื่อให้ผู้ลงทุน และสาธารณชนได้รับทราบ ในวันนี้ (31 มี.ค.2568) ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

นายธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าระบบโครงสร้างพื้นฐานของอาคารที่ร้องขอให้ไปตรวจสอบไม่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวอย่างมีนัยสำคัญ  อาคารต่าง ๆ ได้มีการออกแบบตามมาตรฐานวิศวกรรม ในปัจจุบันสามารถรองรับแผ่นดินไหวได้ ทั้งนี้ ประเมินจากโครงสร้างหลักของอาคารไม่ได้รับความเสียหาย การเข้าใช้ประโยชน์ในอาคารสามารถทำได้กับอาคารที่ได้รับการตรวจและประเมินผลเป็นสีเขียว ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่าอาคารได้รับการประเมินเป็นสีเขียวจำนวนมาก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการสำรวจภาคการผลิตของกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในครั้งนี้ โครงสร้างพื้นฐานสำคัญต่างๆ ในการผลิตยังเปิดใช้งานได้ตามปกติ รวมถึงการขนส่งวัตถุดิบและสินค้าที่ผลิตเสร็จก็ยังดำเนินการเหมือนเดิมทุกประการ

ทั้งนี้ ในภาคการท่องเที่ยว ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาระบุว่า ขณะนี้สถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ประชาชน นักท่องเที่ยว สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ รัฐบาลเฝ้าประเมินสถานการณ์ ตรวจสำรวจอาคาร สถานที่และช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ ขอให้มั่นใจว่าประเทศไทยปลอดภัยเที่ยวไทยได้อย่างมั่นใจแน่นอน

นางรุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความมั่นใจว่าโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินและการให้บริการทางการเงิน เช่น ระบบบาทเนต และ mobile banking application ของทุกธนาคาร รวมทั้งระบบเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องเป็นปกติ เช่นเดียวกับการให้บริการของสถาบันการเงินแก่ลูกค้าประชาชนและภาคธุรกิจ นอกจากนี้ ธปท. ได้กำชับให้สถาบันการเงินพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ที่ประสบภัย เช่นเดียวกับที่เคยให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษเมื่อเกิดอุทกภัยในปี 2567 โดยได้มีการผ่อนปรนเกณฑ์บางด้านรองรับไว้แล้ว

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้ความเชื่อมั่นว่า สำนักงาน คปภ. จะดูแลการเบิกจ่ายสินไหมให้รวดเร็วและเป็นธรรม และได้จัดตั้งศูนย์เพื่อช่วยเหลือด้านการประกันภัยเชิงรุก ประชาชนสามารถติดต่อสายด่วน คปภ. 1186 และทาง Chatbot @oicconnect ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในส่วนของความเสียหายจากการถล่มของอาคาร ทราบว่าบริษัทประกันภัยต่าง ๆ ได้มีการประกันภัยต่อ (reinsure) ออกไปเป็นส่วนใหญ่ กับบริษัทประกันภัยต่อต่างประเทศ จึงไม่กระทบต่อสถานะของบริษัทประกันภัยของไทยซึ่งมีความเข้มแข็งอยู่ในระดับที่มั่นคงสูง

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. ได้ประสานงานกับผู้เกี่ยวข้อง และให้ความมั่นใจว่าระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุน ตลอดจนตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถดำเนินการและให้บริการได้อย่างปกติ พร้อมทั้ง ก.ล.ต. ได้ผ่อนผันการนำส่งข้อมูลของผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแล รวมทั้งบริษัทจดทะเบียนและบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว

นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนในภาพรวมยังคงแข็งแกร่ง ในภาพรวมของภาคธุรกิจสามารถรับมือกับสถานการณ์และดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ไม่กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทจดทะเบียนไทย ขณะเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมความพร้อมระบบและการดำเนินการทุกด้าน รวมทั้งประสานงานใกล้ชิดกับบริษัทสมาชิกและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความมั่นใจสำหรับการเปิดการซื้อขายในทุกตลาดในวันนี้  

ทั้งนี้ ผู้ให้บริการระบบสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน ระบบรถไฟฟ้า ทั้งใต้ดินและบนดินไม่มีความเสียหาย และสามารถดำเนินได้ตามปกติ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

Message us