“ตาไก่เกาะช้าง” พืชหาดูยากดอกสีชมพูแดง

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม เพจเฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยแพร่ข้อมูล “ตาไก่เกาะช้าง” พืชหายากดอกสีชมพูแดง มีรายละเอียดว่า ตาไก่เกาะช้าง ได้รับการตีพิมพ์เป็นพืชชนิดใหม่ของโลกในปี 2015 ลงในวารสาร Acta Phytotaxonomica et Geobotanica ฉบับที่ 66(2) หน้า 126-131 โดย Tetsukazu Yahara และ Shuichiro Tagane นักพฤกษศาสตร์ชาวญี่ปุ่น แห่งมหาวิทยาลัยคีวชู (Kyushu University) จากตัวอย่างต้นแบบหมายเลข Tagane S, Toyama H, Fuse K, Iwanaga F, Rueangruea S, Suddee S, Kanemitsu H, Zhang M, Kim W, Loth M 6028 ที่เก็บอุทยานแห่งชาติพระโมนิวงศ์โบกอร์ (Preah Monivong Bokor National Park) ทางตอนใต้ของประเทศกัมพูชา ตัวอย่างต้นแบบ (holotype) ถูกเก็บไว้ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ส่วนตัวอย่างคู่ตัวอย่างต้นแบบ (isotype) บางส่วนเก็บไว้ที่หอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่มหรือไม้ต้น ไม่ผลัดใบ สูงได้ถึง 8 ม. ทุกส่วนเกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอกถึงรูปใบหอกแกมรูปรี กว้าง 1-3 ซม. ยาว 4-11 ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ เกลี้ยงทั้งสองด้าน มีจุดต่อมขนาดเล็กสีดำหนาแน่น เส้นแขนงใบข้าง 14-18 เส้น ช่อดอกกึ่งช่อซี่ร่ม ออกตามซอกใบ มี 2-6 ดอก สีชมพูอมแดง ก้านดอกยาว 1-2 ซม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันปลายแยกเป็น 5 แฉก รูปไข่ ยาวประมาณ 2 มม. เกลี้ยง มีจุดต่อมสีม่วงอมดำ กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันปลายแยกเป็น 5 แฉก รูปไข่กว้าง ยาว 5-7 มม. ปลายแหลม มีจุดต่อมสีม่วงอมดำ เกสรเพศผู้ 5 เกสร อับเรณูยาวประมาณ 4 มม. มีจุดต่อมสีม่วงอมดำ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เกลี้ยง ผลแบบผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 6-7 มม. สีเขียว สุกสีม่วงอมแดง มีจุดต่อมสีม่วงอมดำ มีก้านเกสรเพศเมียติดทนที่ส่วนปลาย

นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์ : พืชหายากของไทย พบเฉพาะที่เกาะช้าง จังหวัดตราด ตามป่าดิบชื้นและป่าดิบแล้งใกล้ลำธาร ออกดอกและเป็นผลเดือนธันวาคม – มกราคม ต่างประเทศพบที่กัมพูชา ซึ่งส่วนใหญ่ดอกเป็นสีขาว ดอกสีชมพูอมแดง (ที่เกาะช้าง) หาพบได้ยาก ปัจจุบันมีจำนวนต้นเหลืออยู่น้อยมาก

เอกสารอ้างอิง

Tagane, S., Toyama, H., Chhang, P., Nagamasu, H., Yahara, T. 2015. Flora of Bokor National Park, Cambodia I: Thirteen New Species and One Change in Status, Acta Phytotaxonomica et Geobotanica 66(2): 95-135

หอพรรณไม้ Forest Herbarium – BKF

Message us