ตรึงราคาก๊าซ LPG ต่ออีก 3 เดือน มีผล 1 ม.ค.-31 มี.ค.67

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน ได้ติดตามสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2566 พบว่า ยังมีแนวโน้มราคาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งกระทบต่อราคาสินค้าและบริการในประเทศส่งผลต่อเนื่องถึงค่าครองชีพของประชาชน ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนและส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่ประชุม กบง. จึงมีมติ เห็นชอบให้คงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ต่ออีก 3 เดือน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 31 มี.ค. 2567 

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า แม้ว่าการตรึงราคาตามมติข้างต้น จะทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG ติดลบเพิ่มขึ้น 2,000 ล้านบาท ส่งผลให้ปัจจุบันการติดลบสุทธิอยู่ที่ประมาณ 47,764 ล้านบาท ณ วันที่ 31 มี.ค. 2567

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด หากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ กระทรวงพลังงานจะเร่งบริหารจัดการสถานการณ์พลังงานโดยด่วน เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน และเพื่อให้ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม และยั่งยืนต่อไป สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) รายงานว่า สถานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 3 ธ.ค. 2566 ติดลบที่ 78,416 ล้านบาท สูงขึ้นจากปลายเดือน พ.ย. 2566 ที่ติดลบ 77,717 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 32,482 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 45,934 ล้านบาท 

รายงานข่าวเปิดเผยว่าว่า กองทุนน้ำมันฯ ได้มีบทบาทในการตรึงราคา LPG มาอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 ได้ตรึงราคาก๊าซหุงต้มไว้ที่ระดับไม่เกิน 363 บาท ต่อถัง 15 กิโลกรัม และเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ก็ได้ตรึงไว้ที่ 318 บาท ต่อถัง 15 กิโลกรัม ตั้งแต่ต้นปี 2563 และเริ่มทยอยปรับขึ้นราคากิโลกรัมละ 1 บาท หรือถังละ 15 บาท มาอย่างเป็นระยะ จนถึงปัจจุบันที่ตรึงไว้ที่ถังละ  423 บาท ต่อถัง 15 กิโลกรัม

Message us