จับแก๊งสวมทะเบียนรถยนต์ลอบเจาะข้อมูลระบบขนส่ง

เมื่อวันที่ 3 ส.ค. พล.ต.อ.ต่อศักดิ์  สุขวิมล  รอง ผบ.ตร. ในฐานะผอ.ศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายจิรุตม์  วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) ร่วมกันแถลงข่าวผลการปฏิบัติการ “พลิกถนนล่า รหัสโจรกรรม” จับกุมผู้ต้องหา 2 รายคือ นายเสถียร เรืองสมุทร อายุ 38 ปี และนายศริสร สุทธิเจต อายุ 44 ปี พร้อมของกลางรถยนต์หรูหลายรายการ อาทิ อาวดี้ คิว 8 ,เมอร์เซเดส เบนซ์ G300, ออสติน มินิ แวน, ซากรถยนต์ บีเอ็มดับบิว E3 ,BMW 3.0 CSL ,เครื่องปั้มเพลท ,แผ่นเพลท และเล่มทะเบียนรถจำนวนมาก โดยจับกุมได้เมื่อ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบก ได้ตรวจพบความผิดปกติในการเข้าใช้งานโปรแกรมปรับฐานข้อมูลของผู้ดูแลระบบงานด้านทะเบียนรถยนต์   จึงทำการตรวจสอบย้อนกลับไปปรากฏว่า มีการลักลอบนำ username และ password ของเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกไปใช้ดำเนินการ แก้ไขปรับปรุงข้อมูลรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ในระบบงานตรวจสภาพรถ เช่น ยี่ห้อรถ หมายเลขตัวรถ เชื่อมโยงข้อมูลที่มีการปรับแก้แล้วมายังระบบงานทะเบียนรถยนต์ โดยมีรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลรวมจำนวนทั้งสิ้น 65 คัน

จึงได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษกับทางศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อนที่จะสั่งการให้ทาง บช.สอท.ดำเนินการตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องและทำการจับกุมผู้ต้องหา 2 ราย และเปิดปฎิบัติการตรวจค้น 35 จุด  ยึดรถที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดจำนวน 65 คัน มูลค่า 77,350,000 บาท พร้อมทั้งออกหมายเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาสอบปากคำเพื่อให้ทราบถึงแหล่งที่มาของรถที่ได้ครอบครองที่เกี่ยวข้องในคดีนี้

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ขบวนการนี้มีการแบ่งงานกันทำ โดยขั้นตอนการดำเนินการของคนร้ายจะกระทำโดย เข้าไปทำการแก้ไขข้อมูลรายการรถในระบบงานตรวจสภาพรถ และเชื่อมโยงข้อมูลมายังระบบงานทะเบียนรถยนต์ ก่อนจะมาขอคัดเล่มทะเบียนรถใหม่ เพื่อให้ข้อมูลในะระบบ MDM ของกรมการขนส่งทางบก ตรงกับข้อมูลรถที่ครอบครอง และข้อมูลในเล่มทะเบียนรถ จากนั้นจะนำเล่มทะเบียนไปขาย หรือจำนำให้กับกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบ และสะสมรถเก่า หรือรถโบราณ  หรือหากมีลูกค้าต้องการจะทำการแก้ไขข้อมูลรถที่ตัวเองครอบครองอยู่ ซึ่งมีนายศริสรเป็นตัวกลางในการติดต่อกับนายเสถียรให้ดำเนินการแก้ไขข้อมูลตามที่ลูกค้าต้องการ เมื่อคนร้ายแก้ไขข้อมูลในระบบแล้ว จะติดต่อทางกรมการขนส่งทางบก ว่าเล่มทะเบียนหาย เพื่อขอออกเล่มทะเบียนใหมj

เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบก็ไม่ทราบถึงการแก้ไขดังกล่าว จึงได้ออกเล่มทะเบียนเล่มใหม่ให้ รถคันดังกล่าว จะกลายเป็นรถที่ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมมีเล่มคู่มือการจดทะเบียนแบบถูกต้องสามารถนำไปขายหรือโอนต่อได้ โดยเล่มทะเบียนรถยนต์จะขายหรือจำนำ ในราคาประมาณ 500,000 -1,500,000 บาท , กรณีจ้างเปลี่ยนข้อมูลจะคิดค่าดำเนินการประมาณ 1,400,000 – 2,000,000 บาท และหากขายเล่มทะเบียนพร้อมรถยนต์จะขายในราคาประมาณ 1,000,000 – 3,000,000 บาท ซึ่งระบบของกรมการขนส่งทางบกมีการวางระบบป้องกันอยู่แล้ว แต่ทางผู้ต้องหาอาศัยความคุ้นชินกับเจ้าหน้าที่เข้าไปจดจำรหัสผ่าน โดยใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คส่วนตัว เข้าอินเตอร์เน็ตผ่านไวฟายของกรม ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถเข้าระบบผ่านระบบนี้ได้เช่นกัน ทำให้บุคคลภายนอกที่ลอคอินเข้าใช้อินเตอร์เน็ตเข้าไปในระบบได้ โดยกลุ่มที่ก่อเหตุจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มแรก จะแก้ไขข้อมูลรถยนต์ที่ไม่มีมูลมูลค่า เปลี่ยนเป็นรถยนต์ที่มีมูลค่าสูง ก่อนที่จะนำเล่มทะเบียนไปขายเล่มละประมาณ 1 ล้านบาท กลุ่มที่สอง คือ คนซื้อเล่มทะเบียนรถไป เพื่อไปหารถยนต์ที่มีสภาพตรงกับข้อมูลในเล่มทะเบียน จากนั้นก็จะไปเปลี่ยนเลขตัวถังรถยนต์ เพราะสามารถยึดที่ปั้มเพลทรถยนต์ได้ โดยกลุ่มนี้จะขายรถยนต์ราคาประมาณ 1 ล้านบาท และเล่มทะเบียนรถยนต์อีก 1 ล้านบาท รวม 2 ล้านบาท และส่วนกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่มีรถยนต์ และเล่มทะเบียน แต่จดทะเบียนไม่ได้ จึงว่าจ้างให้อีกคนไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลรถยนต์กับกรมการขนส่งทางบก โดยประสานผ่านผู้ต้องหา มีราคาเปลี่ยนคันละ 1.4 – 2 ล้านบาท

พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) กล่าวว่า ปฎิบัติการครั้งนี้ สามารถตรวจยึดรถได้จำนวนทั้งสิ้น 65 คัน เป็นรถยนต์ 57 คัน ในจำนวนนี้มีแต่เล่ม32 คัน มีแต่รถ 2 คัน มีรถพร้อมเล่ม 13 คัน และถูกสวมชื่อ9 คัน ขณะที่ตรวจยึกรถจักรยานยนต์8 คัน ในจำนวนนี้มีแต่เล่ม 2 คัน มีรถพร้อมเล่ม 1 คัน และถูกสวมชื่อ6 คัน อย่างไรก็ตามเบื้องต้นแจ้งข้อหาในความผิดตาม ม.7 ,ม.9 และม.14(1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในการแก้ไขข้อมูล นำข้อมูลปลอมเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และเข้าถึงรหัสโดยมิชอบ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และหลังจากนี้จะขยายผลถึงกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ครอบครองรถยนต์ที่ต้องสงสัยก็จะออกหมายเรียกให้นำรถยนต์เข้ามาตรวจสอบ รวมทั้งทำหนังสือถึงกรมศุลกากร ถึงการนำเข้ารถยนต์และการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรถยนต์

ขณะที่ นายจิรุตม์  วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นได้สั่งให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยให้รายงานผลการสอบสวนโดยเร็วหากพบว่ามีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องก็จะดำเนินคดีในความผิดอาญาและวินัยควบคู่กันไปอีกครั้งจะขอนำข้อมูลการสืบสวนสอบสวนของทางตำรวจไปประกอบการพิจารณาเช่นกัน ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกเกี่ยวข้อง และยังไม่พบว่ามีการขายพาสเวิร์ดให้คนอื่น แต่ครั้งนี้เป็นการตรวจพบของเจ้าของพาสเวิร์ดเอง ที่พบความผิดปกติจึงแจ้งให้ตรวจสอบ โดยผู้ที่รู้พาสเวิร์ดการเข้าระบบนี้มี 7 คน และมีการแก้ไขข้อมูลรถของเจ้าหน้าที่เพียงคนเดียว อย่างไรก็ตามสำหรับการจดจำรหัสผ่านของผู้ต้องหา ก่อนหน้านี้ก็จะสามารถเข้าระบบอินเตอร์เน็ตด้วยระบบ LAN แต่เมื่ออำนวยความสะดวกใช้เจ้าหน้าที่ใช้แทปเล็ตในการเข้าระบบตรวจสอบรถยนต์ได้ก็สามารถล็อกอินเข้าระบบด้วยไวฟายได้ และตรวจสอบในพื้นที่เปิดทำให้บุคคลภายนอกอาจเห็นเวลาที่เจ้าหน้าที่เข้าระบบได้ แต่พาสเวิร์ดนี้จะต้องเปลี่ยนทุกๆ 3 เดือนอยู่แล้ว ขณะนี้ก็ได้เน้นย้ำให้หน่วยดังกล่าวเพิ่มความระมัดระวัง และเว้นระยะห่างระหว่างตัวเองและผู้ใช้บริการแล้ว

Message us