จับแก๊งปลอมสเตทเม้น-หนังสือรับรองเงินเดือนขอสินเชื่อแบงก์และทำวีซ่า

เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) เปิดเผยว่า พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) และนายภิญโญ โกมลกิตติพงศ์ ผู้จัดการทีมสืบสวนการทุจริตต่อองศ์กร ฝ่ายป้องกันอาชญากรรมทางการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกันจับกุม 4 ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 2754-2757/2565 ลงวันที่ 6 ธ.ค.2565 ในความผิดฐาน “ร่วมกันโดยทุจริตหรือหลอกลวง ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน และร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ” โดยจับกุม 2 รายแรกได้ในพื้นที่ ม.2 ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และจับกุมอีก 2 รายได้ที่ จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากบก.ปอท. ได้รับแจ้งจากฝ่ายกฎหมายธนาคารไทยพาณิชย์ว่า มีกลุ่มบุคคลนำรายงานเดินบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ปลอมไปยื่นกู้กับสถาบันการเงินอื่นๆและยื่นขอหนังสือเดินทางกับสถานทูตต่างๆ เพื่อไปทำงานหรือศึกษาต่อต่างประเทศ โดยได้ว่า จ้างทำรายการเดินบัญชีปลอมจากเว็บไซต์ www.monneyaporvedmany.com และมีการติดต่อกันผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ชื่อบัญชี @loansimple จึงได้ทำการสืบสวนทราบว่ากลุ่มคนร้ายมีการเปิดเว็บไซต์รับจ้างทำเอกสารปลอมเพิ่มเติมอีก 2 เว็บไซต์เมื่อทำการสืบสวนเพิ่มเติมจึงพบว่ากลุ่มคนร้ายใช้บัญชีม้าในการทำธุรกรรมทั้งหมด

ต่อมาชุดสืบสวนทราบว่า ผู้ก่อเหตุคือนายศตวรรษและน.ส.วรรณวิสา สองสามีภรรยาเป็นเจ้าของเว็บไซต์ที่แท้จริง โดยใช้บัญชีม้าซึ่งเป็นของนายพลวัฒน์และน.ส.รัตนาภรณในการทำธุรกรรมการเงิน จึงรวบรวมพยานหลักฐานต่อศาลอาญาเพื่อขอหมายจับก่อนนำกำลังเข้าตรวจค้นบริเวณบ้านพักในพื้นที่ ม.2 ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พบนายศตวรรษและ น.ส.วรรณวิสาผู้ต้องหา พร้อมด้วยของกลางหลายรายการ อาทิ คอมพิวเตอร์ จำนวน 2 เครื่องอุปกรณ์แท็บเล็ต ยี่ห้อแอปเปิ้ล รุ่นไอแพด จำนวน 2 เครื่องโทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อไอโฟน จำนวน 2 เครื่องสมุดบัญชีธนาคารและบัตรกดเงินสด จำนวน 16 อัน และรถจักรยานยนต์สำหรับใช้กดเงิน 1 คัน นอกจากนี้ยังจับกุมผู้ต้องหาอีก2 ราย ที่รับจ้างเปิดบัญชีม้า ก่อนนำส่งพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอท. เพื่อดำเนินคดีต่อไป

พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวว่า เบื้องต้นนายศตวรรษให้การรับสารภาพว่า เป็นผู้ที่รับทำสเตทเม้นธนาคารปลอมผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นไลน์ทั้งหมดจริง โดยก่อนหน้านี้เคยรับจ้างทำสเตทเม้นธนาคารปลอมร่วมกับผู้ต้องหาในคดีอื่น และเห็นว่ามีรายได้สูง โดยคิดค่าดำเนินการปลอมสเตทเม้นตั้งแต่ 6,000 บาท เรื่อยไปจนถึง 50,000 บาท ต่อครั้ง แล้วแต่จำนวนยอดเงิน และรายการเดินบัญชี นอกจากนี้ ยังเคยถูกจับกุมในลักษณะเดียวกัน โดยศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 5 ปี 4 เดือน และขอยื่นประกันตัวในระหว่างศาลอุทธรณ์ โดยระหว่างการประกันตัวได้กลับมาก่อเหตุอีก ซึ่งในห้วงเวลา 1 ปี พบมีผู้ว่าจ้างทำสเตทเม้นปลอมจากกลุ่มผู้ต้องหา กว่า 1,000 ราย พบเงินหมุนเวียนกว่า 20 ล้านบาท ส่งผลให้สถาบันการเงินต่างๆ ที่ปล่อยกู้ให้กับกลุ่มคนที่ว่าจ้างทำสเตทเม้นปลอม ได้รับเสียหายกว่า 20 ล้านบาท

ผบช.ก.กล่าวว่า การกระทำดังกล่าว ส่งผลถึงความน่าเชื่อถือของประเทศไทย รวมถึงประชาชนคนไทยรายอื่นๆ ที่ประสงค์ยื่นเอกสารขอทำวีซ่าจากสถานทูตประเทศต่างๆ เนื่องจากมีการใช้เอกสารปลอมสำหรับยื่นขอไปทำงานหรือศึกษาต่อต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จึงขอประชาสัมพันธ์เตือนประชาชนว่าการทำเอกสารปลอมเพื่อนำไป ยื่นกับสถาบันการเงินและหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศนั้นมีความผิดตามกฎหมาย นอกจากจะไม่ได้รับเงินกู้หรือวีซ่าตามที่ขอแล้วแล้วยังถูกดำเนินคดีส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมต่างๆจากสถาบันการเงิน ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจเสียหาย และส่งผลต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอีกด้วย อย่างไรก็ตามขบวนการนี้ยังมีผู้ที่หลบหนีการจับกุมอีกสองราย ซึ่งอยู่ระหว่างการติดตามตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

Message us