กระทุ้งรัฐเร่งแก้สินค้าต่างชาติราคาต่ำรุกหนักผู้ประกอบการไทยรอวันตาย


เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการประชุม กมธ. ซึ่งมีวาระพิจารณาผลกระทบของสินค้าและธุรกิจต่างชาติต่อเศรษฐกิจไทยและผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะปัญหาสินค้าต่างชาติราคาต่ำและการประกอบธุรกิจผ่านนอมินี โดยเชิญ หน่วยงาน กรมศุลกากร, กรมสรรพากร, กรมการค้าต่างประเทศ, กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม, ธนาคารแห่งประเทศไทย และภาคเอกชน ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเข้าชี้แจง ณ รัฐสภา

ทั้งนี้ จากการให้ข้อมูลของภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พบว่า สถานการณ์และผลกระทบมีความรุนแรง จาก 46 กลุ่มอุตสาหกรรม สภาอุตฯ ประเมินว่าใน 6-12 เดือนข้างหน้ามีมากถึง 25 กลุ่มอุตสาหกรรมที่เสี่ยงได้รับผลกระทบมากจากสินค้าและธุรกิจต่างชาติ โดยขณะนี้กำลังการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งลดต่ำกว่า 30% หลายโรงงานจากทำงาน 3 กะเหลือกะเดียว นอกจากนี้ใน 4-5 เดือนที่ผ่านมา มีจำนวนโรงงานปิดมากถึง 111 โรงต่อเดือน แม้บางข้อมูลจะบอกว่ามีการเปิดใหม่เพิ่มขึ้น แต่ผู้แทนสภาอุตฯ แจ้งว่า ต้องไปดูว่าที่เปิดเพิ่มมา ใช้แรงงานแค่ไหน ใช้แรงงานไทยหรือแรงงานต่างชาติ



นายสิทธิพล กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกระทบความมั่นคงของภาคการผลิต หรือ supply chain ถ้าเสียหายแล้วสร้างใหม่ยาก จะกระทบผู้ผลิต และภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศในระยะยาว การไหลบ่าของสินค้าต่างชาติราคาต่ำ เช่นจากจีน รวมถึงการมีธุรกิจจากต่างชาติในรูปแบบนอมินี เกิดจากหลายปัจจัย เช่น กำลังการผลิตส่วนเกินในประเทศผู้ส่งออก ฟรีวีซ่า สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ โดยสถานการณ์ปัจจุบันครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งนี้การมาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Temu จะสร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยยิ่งกว่าเดิม เพราะเป็น B2C กล่าวคือส่งตรงจากโรงงานถึงมือผู้บริโภค ชิ้นเดียวก็ขาย
จึงเห็นว่าภาครัฐไม่ควรนิ่งนอนใจ จากข้อมูลผลประกอบการของ Temu ในต่างประเทศ ยอดขายเติบโตถึง 1200% ต่อเดือน สามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาด (Market share) เอาชนะรายใหญ่ เช่น Aliexpress ได้ในไม่กี่เดือน ทั้งที่ Aliexpress ก็ขายถูกมาก ตอนนี้กำลังขยายไป offline ด้วย



อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ กมธ.จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด สำหรับข้อเสนอที่ได้จากการหารือทั้งภาครัฐและเอกชน มีหลายประการ ดังนี้
1) รวบรวมหน่วยงานภาครัฐดูแลเรื่อง e-commerce ให้สามารถแก้ปัญหาได้ไว

2) กำกับตรวจสอบคุณภาพ เช่น ฉลาก ทั้ง มอก. อย. โดยแพลตฟอร์มควรกำกับให้ผู้ค้าต้องแสดงฉลากโดยอัตโนมัติและตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

3) มีข้อเสนอให้แพลตฟอร์มที่อยู่ในต่างประเทศต้องมีผู้แทนที่ถูกกฎหมาย (legal representative) ในประเทศไทย

4) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องภาษี เช่น กรมสรรพากร กรมศุลกากร ควรดูบทเรียนในต่างประเทศเพื่อรับมือ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมาตรการการค้าระหว่างประเทศ เช่น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ ควรดูเครื่องมือใหม่ๆ หรือบทเรียนในต่างประเทศ เพื่อปรับมาตรการรับมือปัญหาอย่างเหมาะสม

5) ขณะเดียวกันกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ควรมุ่งเป้าตรวจสอบบริษัทที่ดำเนินการโดยนอมินีผิดกฎหมาย โดยครอบคลุมบางสำนักบัญชี สำนักกฎหมาย ที่มีส่วนสำคัญในการดำเนินการจัดตั้งบริษัทเหล่านี้

Message us