กระทรวงอว.ไทย-กัมพูชาร่วมลงนาม MOU ด้านวิทย์ฯ-นวัตกรรม

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ H.E. Vanndy Hem รมว.อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ประเทศกัมพูชา ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างสองกระทรวงของสองประเทศ โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ร่วมเป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนาม ณ ตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาล โดยบันทึกความเข้าใจดังกล่าวเป็นหนึ่งในบันทึกความเข้าใจระหว่างหน่วยงานฝ่ายไทยกับกัมพูชา ทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนทั้งหมด 5 ฉบับ ที่ได้มีการลงนามในห้วงการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาในครั้งนี้

น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า บันทึกความเข้าใจ(MOU) นี้ จัดทำขึ้นเพื่อยกระดับความร่วมมือในการพัฒนาองค์ความรู้ และกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมระหว่างไทยกับกัมพูชาอย่างเป็นรูปธรรมโดยกำหนดให้ทั้งสองฝ่ายจัดตั้งคณะกรรมการร่วมไทย-กัมพูชา (Joint Committee) เพื่อดำเนินกิจกรรมความร่วมมือภายใต้ MOU ดังกล่าว โดยเน้นการพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรในสาขาวิชาที่ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญ ได้แก่

1. วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และเทคโนโลยีชีวภาพ

2. หุ่นยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีดิจิทัลและเศรษฐกิจดิจิทัล

3. ความมั่นคงทางอาหาร น้ำ และพลังงาน

4. ภูมิสารสนเทศและเทคโนโลยีอวกาศ

5. ชีววิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์

6. วัสดุศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี

7. นโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

8. การส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ การบ่มเพาะผู้ประกอบการ และอุทยานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

9. มาตรวิทยา

10. การจัดการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน

11. การแปรรูปอาหารและบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม และสาขาอื่น ๆ

น.ส.ศุภมาศ กล่าวต่อว่า กิจกรรมความร่วมมือที่จะดำเนินภายใต้ MOU นี้ ประกอบไปด้วย

1. โครงการการวิจัยและพัฒนาร่วม

2. การแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัย

3. การจัดประชุมทางวิทยาศาสตร์ การประชุมทางวิชาการ การสัมมนา การฝึกอบรม การประชุมเชิงปฏิบัติการ นิทรรศการ โครงการ/หลักสูตรเสริมสร้างขีดความสามารถ

4. การแลกเปลี่ยนข้อมูล และเอกสารทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

5. การถ่ายทอดเทคโนโลยี และความร่วมมือด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในรูปแบบอื่น ๆ

“การดำเนินกิจกรรมหรือโครงการภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวจะนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรเพื่อรองรับการส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูงซึ่งตอบโจทย์นโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจตามนโยบาย “ส่งเสริมเศรษฐกิจใหม่” ของไทย และ “ยุทธศาสตร์ห้าเหลี่ยม” ของกัมพูชา” น.ส.ศุภมาส กล่าว


Message us