กมธ.นิรโทษกรรมเดินหน้าข้อมูลคดีการเมือง 5 หมื่นคดี

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่รัฐสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม กมธ. ว่า การประชุม กมธ. วันนี้ มีมติว่า ในสัปดาห์หน้า จะมีการเชิญบุคคลที่ส่วนใหญ่มีบทบาทสำคัญ ในเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งเราจะจำเป็นต้องทราบว่า เขามีความจำเป็นอะไรที่ต้องเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้น มีการกระทำอะไร และคดีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว

ทั้งนี้ ในการประชุมวันที่ 14 มีนาคม ที่จะถึงนี้ จะมีการเชิญบุคคลดังต่อไปนี้ 1.นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ อดีตผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), นายถาวร เสนเนียม อดีต ผู้ชุมนุมคณะกรรมการประชาชน เพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.), น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล อดีตผู้ชุมนุมกลุ่มเยาวชน, นายสุริยะใส กตะศิลา อดีตผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, กลุ่มโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

สำหรับ เรื่องกระบวนการพิจารณาของ กมธ.นั้น ได้ข้อยุติว่า จะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1มกราคม 2548 จนถึงปัจจุบัน เพื่อจำกัดขอบเขตหน้าที่ว่า จะพิจารณาเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าว รวมถึงจะต้องดูว่าการกระทำในช่วงเวลานั้น มีการกระทำอะไรบ้าง มีเหตุการณ์อะไรบ้างที่เกิดขึ้น เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะจะเป็นตัวที่บ่งบอกว่า ทางการเมืองเกิดความขัดแย้งทางการเมืองอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งได้มอบให้นายนิกร จำนง เลขาธิการ กมธ. เป็นผู้รวบรวมข้อมูล ซึ่งในการประชุมครั้งต่อไป วันที่ 14 มีนาคม จะเป็นการรับฟัง และในวันที่ 21 มีนาคม จะเป็นการพิจารณาข้อมูลในส่วนนี้ ส่วนกรณีความผิดตามกฏหมายอาญามาตรา 112 ยังไม่มีการพิจารณาในขณะนี้

ด้าน นายนิกร จำนง เลขานุการ กมธ. กล่าวในฐานะประธานคณะอนุกรรมมาธิการพิจารณาข้อมูลและสถิติคดีความผิด อันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง ว่า ขณะนี้ได้ทำหนังสือขอข้อมูลคดีทางการเมืองราว 50,000 คดี รวมถึงคดีที่เกิดขึ้นหลังปี 2563 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันได้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานศาลยุติธรรม และศาลทหารด้วย เพื่อนำข้อมูลมารวมกัน และจำแนกเหตุการณ์เพื่อตัดสินใจ ก่อนเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

นายนิกร กล่าวต่อว่า อนุกรรมาธิการจะรวบรวมคดีที่มีมูลเหตุจากแรงจูงใจทางการเมืองซึ่งเป็นศัพท์ทางเทคนิคที่ใช้ในหลายกรรมาธิการและหลายประเทศ ซึ่งเป็นคำที่สำคัญ พร้อมยกตัวอย่างว่า สมัย นปช. หรือกลุ่มพันธมิตรฯ มีแรงจูงใจที่ต่างกัน แต่ก็จัดเป็นแรงจูงใจทางการเมืองเหมือนกัน ซึ่งจะนำมาพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปต่อไป

อย่างไรก็ตาม นายนิกร ย้ำว่า ตอนนี้จะยังไม่พิจารณาว่าคดีใดที่จะไม่เข้าข่ายนิรโทษกรรม เพียงแต่ดูเหตุการณ์ทั้งหมดในแต่ละช่วงเวลา แล้วนิยามว่ามีมูลเหตุจากแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ โดยเอาเหตุการณ์เป็นตัวตั้ง โดยไม่เอาตัวบุคคลผู้กระทำเป็นตัวตั้ง

Message us