“หมอเปรม”อนุโมทนาสาธุถ้าไทยไม่เสียดุลการค้ากับอียูเหมือนในอดีต

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วน และความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรป และรัฐสภารัฐสมาชิก ฝ่ายหนึ่งกับราชอาณาจักรไทย อีกฝ่ายหนึ่ง โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ภายหลังจากนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศได้ชี้แจงถึงความจำเป็นในเรื่องดังกล่าวแล้วได้มีสมาชิกรัฐสภาทั้งสส.และสว.ได้ร่วมอภิปรายกันอย่างกว้างขวางทั้งสนับสนุน คัดค้าน และเสนอแนะ

นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกรัฐสภา อภิปรายช่วงหนึ่งว่า นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ไปลงนามสมัครเข้าไปร่วม OECD หรือ Organization for exconomic Corporation and Development ซึ่งมีประเทศเป็นสมาชิกอยู่แล้ว 38 ประเทศด้วยหวังว่าเราจะเป็นประเทศที่ 39 ที่จะเข้าไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว มีผลถ้าเรามีกรอบความร่วมมือตกลงกัน หรือ PCA ก็จะเป็นตัวช่วยให้เราเข้า OECD ได้เร็วเช่นเดียวกัน จะมีผลทำให้เราแก้ปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจที่หมักหมมมานานได้สำเร็จ รัฐสภาจึงได้มาพิจารณา PCA ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญ ก่อนที่จะไปสู่ OECD

นพเปรมศักดิ์ กล่าวว่า ก่อนที่จะไปเซ็นหรือไม่เซ็นอย่างไร ตนมีคำถามรมว.ต่างประเทศถ้าไม่มีเรื่องชีวิตของมนุษย์การลงทุนก็สูญเปล่า ดังนั้นการบรรลุข้อตกลงข้อ 46 เรื่องสาธารณสุขตนให้ความสำคัญมาก มีการเขียนไว้ว่าคู่ภาคีที่จะตกลงร่วมมือกันและแบ่งปันประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในสาขาสาธารณสุข โดยมีเป้าหมายเสริมสร้างความเข้มแข็งในกิจการด้านการวิจัย การรับมือภัยคุกคามจากโรคไม่ติดต่อและโรคติดต่อร้ายแรง รวมถึงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 และเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการบริการสาธารณสุขทั่วหน้า ตลอดจนการบริการด้านสาธารณสุข การบริการด้านเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ ภาคีจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเป็นเลิศ ในตัวอย่างและเครื่องมือแพทย์

“ถ้ารมว.ต่างประเทศทำได้จริงผมอนุโมทนาสาธุ เพราะเราขาดดุลการค้าอย่างมาก เรื่องการแพทย์กับยุโรปมานานแล้ว ไม่ว่าจะเรื่องวัคซีน เครื่องมือแพทย์ หรือเรื่องยา แม้ไทยผลิตยาได้แต่ปรากฏว่า ถูกยานอกตีตลาดประจำ แม้แต่วัคซีนเราสูญเสียงบประมาณจำนวนมากในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา ถ้ารมว.ต่างประเทศจะไปเซ็นจะมีส่วนแลกเปลี่ยนกับเขาอย่างไร ว่าเราจะไม่เสียเปรียบด้านวัคซีน ตัวยา และเครื่องมือแพทย์เพราะโรคต่างๆ เกิดขึ้นยังไม่จบ โควิดยังไม่จบสิ้นยังมีโรคฝีดาษวานรเกิดขึ้นอีก ถ้าได้ติดตามข่าววัคซีนฝีดาษวานรโดสละเกือบ 10,000 บาท แล้วคนยากคนจนจะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย แต่ถ้าข้อตกลงนี้สำเร็จท่านสามารถดูแลให้คนยากคนจนในประเทศไทยได้มีวัคซีนราคาถูกได้อย่างไร ขอฝากรมว.ต่างประเทศได้ตอบคำถามด้วย”นพ.เปรมศักดิ์กล่าว

นพ.เปรมศักดิ์อภิปรายต่อว่า ในข้อ 18 เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่บอกว่าคู่ภาคีจะต้องให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อพัฒนาการคุ้มครองการบังคับใช้ และการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้เชิงพาณิชย์ โดยอ้างจากประสบการณ์ของยุโรปและเสริมสร้างการเผยแพร่ความรู้ดังกล่าว สิ่งนี้เราก็เสียเปรียบมานานถ้าการแลกเปลี่ยนครั้งนี้จะลดการเสียเปรียบให้น้อยลง ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เราไม่ใช่เอาเทคโนโลยีที่เลิกใช้แล้วมาให้เรา วันนี้เรามีขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากทิ้งที่ไหนก็ไม่ได้อันเนื่องมาจากความเจริญทางเทคโนโลยีที่เราก้าวไม่ทัน เขาก็เอาของที่เหลือใช้มาให้เรา รมว.ต่างประเทศช่วยตอบคำถามนี้ด้วยจะแก้ปัญหาอย่างไร

นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวว่า ในมาตรา 44 ที่เราจะเซ็นในเรื่องสมุทราภิบาลคือการดูแลท้องทะเลและมหาสมุทร ก่อนหน้านี้เรามีพ.ร.บ.ประมง 2490 ได้ทำการประมงออกนอกน่านน้ำ และขาดการควบคุมทำให้เราถูกตำหนิจาก EU จนได้ใบเหลืองต่อมารัฐบาลก่อนหน้านี้ได้ปลดใบเหลืองสำเร็จ ได้แก้ไขการควบคุมประมงนอกน่านน้ำให้อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ถูกให้ใบเหลือง ที่ตนพูดเรื่องนี้เพราะเป็นคนขอนแก่น คนภาคอีสานไปเป็นลูกเรือประมงไปตายที่อินโดนีเซีย โซมาเลียจำนวนมาก

“ผมขอพูดเพื่อคนอีสานว่าเราจะแก้ไขปัญหาตรงนี้ให้ลูกเรือของเราอยู่รอดได้อย่างไรหลังจากมีการออกพระราชกำหนดการประมงเมื่อปี 2558 EU ได้ปลดใบเหลืองเราทำให้ประมงชายฝั่ง หรือประมงพื้นบ้านฟื้นฟูขึ้นมา ทำให้เกิดระบบที่ดีมีอาหารทางทะเลอุดมสมบูรณ์ แต่ในขณะนี้ทาง EU ได้มาประเทศไทยได้เห็นว่าเรากำลังจะแก้กฎหมายพ.ร.บ.การประมง 2558 เขามาพบนายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ซึ่งเป็นประธานการประมงแห่งชาติ หากแก้ไขจะกลับไปเหมือน พ.ร.บ.ประมง 2490 คงจะเหมือนเดิม รมว.ต่างประเทศช่วยตอบผมด้วยว่า ทำไมนอนเตียงนอนเตียงเดียวกันแต่ฝันคนละเรื่อง ทำไมจะมาเซ็นให้การประมงขาดการควบคุมเหมือนในอดีตตรงนี้ขอให้ตอบให้กระจ่างแจ้ง ก่อนจะให้ความเห็นชอบในเรื่องเหล่านี้”นพ.เปรมศักดิ์กล่าว

ด้านนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ ชี้แจงว่า ตนเชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพของข้าราชการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนในการทำงานเจรจากรอบความร่วมมือครั้งนี้ หวังว่าจะนำไปสู่การยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอียูในอนาคต การลงนามและการรับรองของสภาฯครั้งนี้มีความสำคัญจะเน้นความร่วมมือพัฒนาศักยภาพนำไปสู่การเจรจาระหว่างไทยกับอียูในเรื่องการค้าเสรี จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการส่งเสริมให้เกิดการค้า การลงทุนระหว่างไทยและกลุ่มประเทศยุโรป กระบวนการนี้เจรจามายาวนาน เป็นไปอย่างรอบคอบ เป็นประโยชน์กับประชาชน การที่อียูต้องการมีความสัมพันธ์กับไทยในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า อียูให้ความสำคัญ เห็นคุณค่า และต้องการจะเห็นไทยมีความร่วมมือกับอียูอย่างเป็นรูปธรรมเป็นระบบเป็นมืออาชีพ

ทั้งนี้ ในเรื่องการกีดกันทางการค้า แม้จะไม่มีความร่วมมืออียูก็บีบบังคับไทยได้ แต่การมีความร่วมมือในครั้งนี้จะนำมาสู่กลไกที่สำคัญ กำหนดให้ไทยและอียูจะมีองค์กรร่วม เพื่อหาทางออก เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีข้อจำกัด จะมีการนำเอาความเห็นที่แตกต่าง ที่มาขึ้นสู่โต๊ะเจรจาทำความเข้าใจ ลดแรงกดดัน กลไกลองค์กรร่วมตรงนี้จะเป็นช่องทางสำคัญ ในการสื่อสาร ลดความขัดแย้งหาทางออกร่วมกัน เจรจาให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด กรอบความร่วมมือตรงนี้จะทำงานร่วมกัน บนพื้นฐานความเท่าเทียม มีศักดิ์ศรี มีเกียรติภูมิเสมอเช่นเดียวกัน

ขณะที่ ตัวแทนกระทรวงต่างประเทศชี้แจงว่า การแก้ไขปัญหาประมงอียูห่วงการแก้ไขพ.ร.บ.ประมง ของไทยจะลดความเข้มงวดลง แต่ได้สร้างความเข้าใจกันแล้วว่าไทยแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกฎหมายระหว่างประเทศ โดยรับฟังความความเห็นอย่างรอบด้าน กรอบ PCA ไม่ได้สร้างเงื่อนไข แต่จะเป็นเวทีที่ไทยกับอียูได้มีช่องทางการสื่อสารในเรื่องที่เป็นข้อห่วงกังวล ส่วนที่ไทยให้ความสำคัญในเรื่องนี้เพราะตลาดอียูด้านอาหารทะเลมีมูลค่าเป็นหมื่นล้าน

ทั้งนี้ มีการอภิปรายกว่า 3 ชั่วโมงที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบกับกรอบความตกลงระหว่างไทย-ยุโรป ด้วยคะแนน 612 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่เห็นด้วย 0

Message us