ผู้ใช้แรงงานขอค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท-ลาคลอด 180 วัน

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม กลุ่มผู้ใช้แรงงานจัดกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติ เคลื่อนขบวนจากสี่แยก จปร.ถนนราชดำเนิน ไปที่เวทีจัดงานลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า ซึ่งมี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารของกระทรวง ขบวนของสภาองค์การลูกจ้างสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจและแรงงานนอกระบบ ในกิจกรรม “แรงงานก้าวหน้า พัฒนาทักษะฝีมือ ยึดถือความปลอดภัย เทิดไท้องค์ราชัน”

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ใช้แรงงานได้เสนอข้อเรียกร้องของกลุ่มสภาองค์การลูกจ้างต่าง ๆ เช่น รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง,ขอให้กระทรวงแรงงาน จัดสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม และจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อผู้ใช้แรงงาน, การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ วันละ 400 บาท และวันลาคลอด 180 วัน

สำหรับ ข้อเรียกร้องวันแรงงาน ปี 2567 มีจำนวน 10 ข้อ ได้แก่ 1.รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98  2. ให้รัฐบาลตราพระราชบัญญัติ หรือประกาศเป็นกฎกระทรวงให้มีการจัดตั้ง กองทุนประกันความเสี่ยง “เพื่อเป็นหลักประกัน” ในการทำงานของลูกจ้าง 3. ให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม เช่น การปรับฐานการรับเงินบำนาญ โดยให้มีอัตราเริ่มต้นที่ 5,000 บาท 4. ให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) จัดสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม และจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อผู้ใช้แรงงาน 5.ให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) ใช้มาตรการอย่างเคร่งครัด ให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรง ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 

6. ให้รัฐบาลเร่งรัดให้ได้ข้อสรุปในแนวทางการจัดระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณอายุ ให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้มีระบบสวัสดิการจากรัฐเทียบเคียงกับข้าราชการบำนาญ และลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 รวมถึงให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้จากค่าตอบแทนความชอบด้วยหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการลดหย่อนเงินได้ก้อนสุดท้าย หรือลดหย่อนเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างเอกชนได้รับเมื่อถูกเลิกจ้าง 7. ให้รัฐบาลเพิ่มหลักประกันความมั่นคงให้กับลูกจ้าง โดยเร่งดำเนินการให้พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติมีผลใช้บังคับโดยเร็ว 8. ขอให้รัฐบาลยกระดับกองความปลอดภัยแรงงานขึ้นเป็น “กรมความปลอดภัยแรงงาน” 9. ให้สำนักงานกองทุนเงินทดแทนจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกินให้กับลูกจ้างจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาลเมื่อลูกจ้างบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือประสบอันตราย เนื่องจากการทำงานให้กับนายจ้าง และ 10. ให้รมวงแรงงาน แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี พ.ศ.2567 และจัดให้มีการประชุมเพื่อติดตามผลทุก 2 เดือน

Message us