ผู้ตรวจการแผ่นดินกลุ่มภูมิภาคเอเชียแถลงเจตนารมณ์รับหลักการเวนิส

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นเจ้าภาพจัดหารือจัดประชุมกลุ่มภูมิภาคเอเชียของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ (IOI) ประจำปี 2566 และการสัมมนานานาชาติ ในหัวข้อ “ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งภูมิภาคเอเชียในฐานะกลไกสำหรับการส่งเสริมการบริหารที่เป็นธรรม ธรรมาภิบาล และหลักนิติธรรม” จับมือ ประธาน IOI และกรรมการบริหารระดับภูมิภาคเอเชีย พร้อมแถลงเจตนารมณ์ของหน่วยงานผู้ตรวจการแผ่นดินในภูมิภาคเอเชียสนับสนุนหลักการเวนิส (the Venice principles)  ยืนหยัดบทบาทของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินในฐานะองค์กรไกล่เกลี่ย ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ธรรมาภิบาล และหลักนิติธรรม ย้ำองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องยืนหยัดถึงความจำเป็นในการคงอยู่เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันและกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลง โดยยึดหลักการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอิสระ เป็นกลาง และเป็นธรรม

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ในฐานะประธานภูมิภาคเอเชียของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ (IOI) เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้หน่วยงานสมาชิกของ IOI จาก 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคใกล้เคียง รวม 11 หน่วยงาน ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมบทบาทและความสำคัญขององค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินในภูมิภาคเอเชียให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย พร้อมด้วยนายคริส ฟิลด์ (Mr. Christ Field) ประธานสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ (IOI) และนายอาจัส อาลี ข่าน กรรมการบริหารระดับภูมิภาคเอเชีย ฐานะผู้แทนหน่วยงานสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย ได้แถลงเจตนารมณ์ตามมติที่ประชุมกลุ่มภูมิภาคเอเชียของ IOI ที่เห็นพ้องสนับสนุนหลักการเวนิส (The Venice Principles) อันเป็นหลักสากลว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินและข้อมติสมัชชาสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องกับสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินที่ 77/224 ซึ่งเน้นย้ำความสำคัญของการปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับหลักการเวนิส

นายสมศักดิ์ กล่าวย้ำว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของรัฐในระบอบประชาธิปไตยที่มีหลักนิติธรรม การเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน มีหลักการบริหารที่ดี โดยเฉพาะบทบาทในการเรียกร้องให้รัฐสภาและรัฐบาลเคารพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งถือว่ามีความสำคัญสูงสุดโดยเฉพาะในช่วงที่มีความยากลำบากและความขัดแย้งในสังคม ดังนั้น หลักการเวนิสจึงมุ่งเน้นว่ารัฐต้องรับรองรูปแบบของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินที่เป็นไปตามหลักการนี้อย่างสมบูรณ์ ต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบัน และต้องเพิ่มพูนระดับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพภาพขั้นพื้นฐานในประเทศ

การแต่งตั้งหรือเลือกตั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามกระบวนการต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับอำนาจหน้าที่ มีความเป็นกลาง ความเป็นอิสระ และความชอบธรรมของสถาบัน อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินต้องครอบคลุมการป้องกันและการแก้ไขการบริหารจัดการที่ไม่เหมาะสม การคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ครอบคลุมการบริหารราชการแผ่นดินทุกระดับ   รวมถึงถึงผลประโยชน์ทั่วไปและการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ว่าจะโดยรัฐ โดยเทศบาล โดยหน่วยงานของรัฐ หรือโดยหน่วยงานเอกชน นอกจากนี้ รัฐต้องละเว้นจากการดำเนินการใด ๆ ที่มีเป้าหมายหรือมีผลคุกคามต่อสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือเป็นอุปสรรคต่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และต้องปกป้องสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจากการคุกคามดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ

หลักการข้างต้นนี้จะนำมาใช้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อพิจารณาถึงความหลากหลายของรูปแบบ ระบบ และสถานะทางกฎหมายของผู้ตรวจการแผ่นดินและเจ้าหน้าที่ รัฐพึงดำเนินการเรื่องที่จำเป็นทั้งหมด รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีสภาพความพร้อมในการเสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และเสริมสร้างสมรรถนะ ความเป็นอิสระและเป็นกลาง ทั้งในจิตวิญญาณและในการปฏิบัติตาม “หลักการเวนิส”  จึงมั่นใจได้ว่าการดำเนินการของผู้ตรวจการแผ่นดินจะถูกต้อง ทันเวลา เพื่อเป็นที่พึ่งแก่ประชาชนในการบรรเทาทุกข์ อำนวยการความเป็นธรรมได้อิสระ มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

สำหรับ หลักการเวนิส (Principles on the Protection and Promotion of the Ombudsman Institution (The Venice principles)) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2562 คณะกรรมการยุโรปว่าด้วยประชาธิปไตยโดยกฎหมาย (คณะกรรมการเวนิส) (The European Commission for Democracy through Law: The Venice Commission) ได้รับรองกฎหมายของสภายุโรป ที่ได้พัฒนาและนำหลักการสำคัญ 25 ประการ เพื่อช่วยปกป้องและส่งเสริมสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งเรียกว่า “หลักการเวนิส” สิ่งเหล่านี้แสดงถึงความเป็นอิสระและเป็นสากลของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดิน เทียบเท่ากับหลักการปารีส ที่กำหนดมาตรฐานของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (NHRI) หลักการเวนิสได้กำหนดหลักการสำหรับการจัดตั้งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และวางแนวทางสำหรับการปรับปรุงองค์กร และยังเน้นย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของผู้ตรวจการแผ่นดินในการช่วยส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน รักษาประชาธิปไตย และหลักนิติธรรม เพื่อให้แน่ใจว่ามีการบริหารงานภาครัฐที่ดี นอกจากนี้ยังย้ำว่า รัฐบาลควรเคารพหลักการดังกล่าว เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่ และได้รับการคุ้มครองจากการคุกคามต่างๆ เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระ และปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การประชุมกลุ่มภูมิภาคเอเชียของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ (IOI) ประจำปี 2566 และการสัมมนานานาชาติ ในหัวข้อ “ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งภูมิภาคเอเชียในฐานะกลไกสำหรับการส่งเสริมการบริหารที่เป็นธรรม ธรรมาภิบาล และหลักนิติธรรม” ได้จัดขึ้นอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 11 – 12 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร ซึ่งมี 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคใกล้เคียงเข้าร่วม ประกอบด้วย ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี, เขตบริหารพิเศษมาเก๊าแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน, สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน, สาธารณรัฐอินโดนีเซีย,  สาธารณรัฐฟิลิปปินส์, ประเทศออสเตรเลีย,  ราชอาณาจักรบาห์เรน และ สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต 

อย่างไรก็ตาม วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 เป็นการสัมมนานานาชาติ ในหัวข้อ “ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งภูมิภาคเอเชียในฐานะกลไกสำหรับการส่งเสริมการบริหารที่เป็นธรรม ธรรมาภิบาล และหลักนิติธรรม” โดยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและต่างประเทศ อาทิ นายคริส ฟิลด์ ประธานของ IOI นายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภา และผู้แทนจากหน่วยงานสมาชิกอื่น ๆ ของ IOI ในภูมิภาคเอเชีย เพื่อนำไปต่อยอดขับเคลื่อนการดำเนินงานของผู้ตรวจการแผ่นดินในภูมิภาคเอเชียให้มีความก้าวหน้า พร้อมทั้งส่งเสริมเครือข่ายของหน่วยงานผู้ตรวจการแผ่นดินให้มีความแน่นแฟ้นและยั่งยืนผลสัมฤทธิ์ของการประชุมกลุ่มภูมิภาคเอเชียของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินและการสัมมนานาชาติ คือมุ่งการสานต่อความร่วมมือระหว่างหน่วยงานสมาชิกในภูมิภาคเอเชียของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ เพื่อแก้ไขการบริหารที่ผิดพลาดและความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ ปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง และเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการปฏิบัติงานของผู้ตรวจการแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนในแต่ละประเทศต่อไป

Message us