ผลตรวจข้าว 10 ปีออกมาแล้วไม่พบสารปนเปื้อนกินได้มีคุณค่าทางอาหารครบ

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นำทีมแถลงข่าวผลการตรวจข้าวที่ได้รับจากกระทรวงพาณิชย์ กรณีสารเคมีตกค้าง การปนเปื้อนสารพิษจากเชื้อรา และคุณภาพของข้าวด้านสารอาหารและอื่น ๆ ด้วยระบบคุณภาพมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ว่า กรณีข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ได้มีการส่งมาตรวจนั้นมีจำนวน 2 ตัวอย่าง คือ ข้าวปริมาณ 3 กิโลกรัม และ 5 กิโลกรัม โดยส่งมาเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา และทางกรมวิทย์มีความเห็นว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจมาก จึงได้ทำการตรวจทันที โดยใช้นักวิทยาศาสตร์เป็น 10 คน ในการตรวจซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาชีพและมีการตรวจด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุด พร้อมยืนยันไม่ได้รับแรงกดดันแต่อย่างไรและดำเนินการแบบตรงไปตรงมา

ทั้งนี้ ผลการตรวจในด้านที่ 1 คุณภาพทางกายภาพและสิ่งแวดล้อม พบว่า มีสิ่งแปลกปลอมทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ส่วนใหญ่จะเป็นเศษของมอดทั้ง 3 ชนิดที่พบบ่อยในข้าวสาร ผลการตรวจ 4 ตัวอย่าง พบว่ามีตัวอย่างที่ไม่พบสิ่งมีชีวิตอยู่ตัวอย่างเดียว คือ ข้าวสารใหม่ที่เป็นตัวอย่างควบคุม ส่วนอีก 1 ตัวอย่างเป็นข้าวเก่าที่ซื้อจากร้านค้าก็มีมอดปนอยู่แต่ไม่มาก แต่ตัวอย่างข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ส่งมา พบว่ามีเศษขาแมลงและมีมอดอยู่จำนวนเยอะกว่ามาก

นพ.ยงยศ กล่าวว่า มาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ.4000-2560 ระบุไว้ว่าข้าวหอมมะลิไทยต้องปราศจากแมลงและไรที่มีชีวิต ดังนั้น ถ้าเอามาตรฐานสินค้าเกษตรมาเทียบ ก็จะไม่ผ่าน 3 ตัวอย่าง คือ ข้าวจากกระทรวงพาณิชย์ และข้าวเก่าในร้านค้า  ด้านที่ 2 ด้านความปลอดภัย จะตรวจสารอะฟลาท็อกซิน (B1+B2+G1+G2) และเชื้อราอีก 7 ตัว ได้แก่ Deoxynivalenol, Fumonisins (B1+B2), Ochratoxin A, Citrinin, Trichothecenes HT-2 toxin, Trichothecenes T-2 toxin และ Zearalenone พบว่าการตรวจครั้งแรกไม่พบสารตกค้างดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ได้มีการตรวจซ้ำอีก 1 รอบ เพื่อตรวจสอบ ทั้งที่มาตรฐาน ISO/IEC 17025 กำหนดให้ทำเพียง 1 ครั้ง ก็ไม่พบสารตกค้างเช่นกัน ส่วนการตรวจหาสารตกค้างของสารรมควันได้ตรวจครบ 3 ตัว ได้แก่ hydrogen phosphide, bromide ion และ ethylene oxide และเพิ่มการตรวจสารกำจัดศัตรูพืช 250 ชนิด ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ใช้ตรวจในกองด่านอาหารและยา ผลปรากฏว่าไม่พบเลย

สำหรับ การตรวจโลหะหนัก อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เป็นอันตราย มีความปลอดภัย แม้จะพบสารตะกั่วที่ 0.009 ในทั้ง 4 ตัวอย่าง แต่ก็พบน้อยกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ 0.2 อยู่ถึง 200 เท่า เช่นเดียวกับตรวจหาสารหนู ที่พบว่าตัวอย่างข้าวจากกระทรวงพาณิชย์พบที่ 0.126 และ 0.146 และข้าวตัวอย่างควบคุม 2 ตัวอย่าง พบที่ 0.151 และ 0.122 ซึ่งน้อยกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ 0.2 ดังนั้น ด้านโลหะปนเปื้อนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

ด้านคุณค่าทางโภชนาการ คิดว่าจะเป็นอาหารได้หรือไม่ได้ ต้องดูอย่างละเอียด เพราะเรามองเห็นประโยชน์จากผลการตรวจครั้งนี้ ตัวชี้วัดอยู่ที่คุณค่าทางโภชนาการ จะสังเกตเห็นว่าทั้ง 2 ตัวอย่างที่กระทรวงพาณิชย์ส่งมา และ 2 ตัวอย่างที่ซื้อมาจากรอบกระทรวงมีคุณค่าทางโภชนาการไม่แตกต่างกัน เราจึงเชื่อว่า ถ้าถามว่าข้าวตรงนี้ยังสามารถให้คุณค่าทางอาหารหรือไม่

“ถ้าดูตรงนี้ ทั้ง 4 ตัวอย่างไม่แตกต่างกัน แต่ต้องไปดูเรื่องแรกคือ มาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ.4000-2560 ที่ไม่ให้มีสิ่งปนเปื้อนมานั้นประกอบด้วย นอกจากนี้ การตรวจหาวิตามินและแร่ธาตุที่คาดว่าจะเสื่อมสลายไป แต่ปรากฏว่าข้าว 4 ตัวอย่างมีวิตามินและแร่ธาตุไม่แตกต่างกัน นี่คือสิ่งที่กรมวิทย์ได้ตรวจมาตลอด 10 วันที่ผ่านมา”นพ.ยงยศกล่าว

ด้านนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า สำหรับข้าวในสต๊อกของรัฐบาลจากโครงการรับจำนำข้าว เหลืออยู่ทั้งหมด 2 คลัง ใน จ.สุรินทร์ คือ คลังกิตติชัย จำนวน 11,665.65 ตัน คิดเป็น 112,711 กระสอบ และคลังพูนผล 3,356.59 ตัน คิดเป็น 32,879 กระสอบ รวมทั้งหมด 15,013.24 ตัน คิดเป็น 145,590 กระสอบ ซึ่งเป็นข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลลอตสุดท้าย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการว่าข้าวเก็บมานาน มีค่าใช้จ่ายที่เป็นภาระของผู้ประกอบการในการรมยา ดูแลรักษา และไม่สามารถนำพื้นที่ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้จึงเป็นที่มาว่ากระทรวงพาณิชย์ อยากจะระบายข้าวและนำเงินกลับมาคืนเป็นรายได้ของรัฐเอง

นายวัฒนศักย์ กล่าวว่าเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้าวในคลัง พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างข้าว ที่กระทรวงได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ (Surveyor) คือ บริษัท โคเทคนา อินสเปคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการค้าต่างประเทศ มีสำนักงานใหญ่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นบริษัทที่มีมาตรฐานในการปฏิบัติ โดยการเก็บตัวอย่างข้าวจะมีการผ่ากรอง 15 ชั้น เพื่อให้ได้ตัวอย่างที่ใกล้เคียงที่สุด ซึ่งเราผ่าทุกกรองและเก็บตัวอย่างมาเพื่อให้มีความมั่นใจ ทุกขั้นตอนมีการเปิดเผยในสายตาของสื่อมวลชน มีความโปร่งใส จากนั้นจึงได้ส่งตัวอย่างมาตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ส่วนการระบายข้าวจำเป็นต้องระบุไว้บนบรรจุภัณฑ์ว่าเป็นข้าวลอต 10 ปีได้หรือไม่ ทาง อคส.ต้องไปดูรายละเอียด แต่อย่างที่มีการรายงานผลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่พบว่าคุณภาพข้าวที่มาจากคลังสินค้า และข้าวใหม่ในตลาดไม่มีความแตกต่างกันนั้น อย่างไรก็ตามคงต้องไปดูในรายละเอียดอีกครั้ง หากจะมีการนำข้าวดังกล่าวมาจำหน่ายต้องมีขั้นตอนการปรับปรุงคุณภาพข้าว นำสิ่งแปลกปลอมที่ปนอยู่ออกก่อน จึงจะนำมาจำหน่ายได้ ส่วนจะสามารถส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศได้หรือไม่นั้น กรมการค้าต่างประเทศจะต้องเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งอาจจะมีการตรวจหาสารเคมีซ้ำหรือไม่ ก็ต้องไปดูรายละเอียด

ขณะที่ นายกฤษณรักษ์ ใจดี รักษาการผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) กล่าวว่า หลังจากที่มีผลการตรวจสอบคุณภาพข้าวที่มีการเก็บรักษาไว้ใน 2 คลังดังกล่าวออกมาว่า มีคุณภาพนั้น ขณะนี้อยู่ในกระบวนการของคณะกรรมการตรวจสอบและวางกรอบการทำงานเพื่อการประกาศขายข้าว ทั้งหมด 15,013.24 ตัน คาดว่า ไม่เกินสิ้นเดือน พ.ค.นี้ ทาง อคส.จะประกาศจำหน่ายข้าวในสต๊อกเป็นการทั่วไป

Message us