ประเพณีรับน้องขึ้นดอยม.เชียงใหม่คึกคักศิษย์เก่า-ใหม่ร่วมกิจกรรมเนืองแน่น

เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บรรยากาศการรับน้องขึ้นดอย นำลูกช้างเชือกใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เดินขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ เช้านี้เป็นไปอย่างคึกคัก บรรดาศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ต่างตั้งตารอชมขบวนของแต่ละคณะอย่างเนืองแน่น โดยมี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเปิดงาน นายธีรวัฒน์ ทองนอก ผู้แทนสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวรายงาน พร้อมด้วยผู้บริหาร นักศึกษา บุคลากรและศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก 

สำหรับ กิจกรรมประเพณีรับน้องขึ้นดอยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2507 เป็นต้นมา ปีนี้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งนับจากหยุดไปช่วงโควิด-19 ระบาด เพื่อนำลูกช้าง 23 คณะ 1 วิทยาลัย พหุวิทยาการและสหวิทยาการ กว่า 30,000 คน ร่วมสืบสานประเพณี การนำน้องใหม่ไปนมัสการพระบรมธาตุดอยสุเทพสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ โดยเฉพาะนักศึกษาชั้นปีที่ 1 หรือน้องใหม่จำนวน 8,171 คน เดินขึ้นไปสักการะพระบรมธาตุดอยสุเทพ ระยะทางกว่า 12 กิโลเมตร โดยมีเหล่าบรรดาศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน รวมถึงประชาชนต่างพากันรอชมการโชว์สปิริตของคณะต่าง ๆ อย่างคึกคัก ก่อนเคลื่อนตัวออกจากด้านหน้าของมหาวิทยาลัยมุ่งสู่พระบรมธาตุดอยสุเทพ

ในปี 2566 นี้ สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้น้อมนำเรื่อง

ราวเสี้ยวหนึ่งของสังคมเมืองเชียงใหม่เมื่อราว 100 ปีที่ผ่านมาเป็นธีมของงาน จากความงดงามของประวัติศาสตร์ในช่วงศตวรรษที่ 20 เป็นช่วงเวลาสำคัญของเมืองเชียงใหม่ สังคมแบบยุคจารีตกำลังก้าวผ่านสู่สังคมโลกสมัยใหม่ อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารราชการแผ่นดิน การขยายตัวของโครงข่ายระบบคมนาคมและการสื่อสาร การปรับเปลี่ยนของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเสริมการอนุรักษ์การถ่ายทอดภูมิปัญญา และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น อันเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ด้านล้านนาสร้างสรรค์ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ริ้วขบวนเริ่มตั้งแต่เวลา 03.30 น. ของเช้ามืดที่ผ่านมา ขบวนเสลี่ยงช้างแก้ว ได้เริ่มออกเดินทางจากบริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากนั้นตามมาด้วยคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นคณะแรกที่ได้เริ่มเดินขึ้นไปยังวัดพระธาตุดอยสุเทพ ตามมาด้วยคณะเกษตรศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะอื่นๆ ตามลำดับ ส่วนคณะวิจิตรศิลป์ จะเป็นคณะสุดท้ายที่เคลื่อนตัวออกจากมหาวิทยาลัยฯ

ทั้งนี้ ประเพณีรับน้องขึ้นดอย 2566 ยังได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ในด้านการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับการเป็นมหาวิยาลัยที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral University) ภายใต้แคมเปญ “My Waste, My Responsibility ขยะใครสร้าง คนนั้นรับผิดชอบ” โดยได้กำหนดจุดพักกินข้าว อย่างเป็นกิจลักษณะ และจุดทิ้งขยะระหว่างทาง ถึง 11 จุด เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสามารถปฏิบัติตนตามวิธีการที่ถูกต้อง ในกิจกรรมขึ้นดอยปีนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีความตั้งใจอย่างยิ่งในการเลือกสรรและขอความร่วมมือผู้สนับสนุนของแจกที่เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถส่งคืนเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้หลังจากจบกิจกรรม ได้แก่ กระป๋องอลูมิเนียม ขวดแก้ว และขวดพลาสติก

นอกจากนี้ ยังรณรงค์ให้เลือกใช้กล่องบรรจุภัณฑ์อาหารจากวัสดุธรรมชาติเช่น กล่องชานอ้อยแทนกล่องกลาสติก ขยะที่ถูกแยกประเภทเหล่านั้นจะถูกจัดการตามกระบวนการต่ออย่างถูกต้อง โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ช่วยลดขยะไปฝังกลบสาเหตุหนึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขยะเศษอาหารที่คัดแยกแล้วจะถูกส่งไปผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ เพื่อนำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า และก๊าซไบโอมีเทนเพื่อใช้กับยานพาหนะ ตลอดจนกิจกรรมนี้เน้นย้ำให้เป็นการรับน้องอย่างสร้างสรรค์ จะไม่มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และขอความร่วมมือไปยังรุ่นพี่ศิษย์เก่าไม่นำเครื่องดื่มมึนเมาเข้ามาในกิจกรรมสำคัญของมหาวิทยาลัย

ข่าว/ภาพ : ภาณุเมศ ตันรักษา ผู้สื่อข่าวจังหวัดเชียงใหม่

Message us