ปชป.หนุนแก้รัฐธรรมนูญยอมรับเสียงจากส.ว.เป็นอุปสรรคสำคัญ

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ไปร่วมกิจกรรม “มนต์รักรัฐธรรมนูญคนจน : เมื่อหิ่งห้อยจะพรายแสง” พร้อมกับขึ้นเวทีเสวนา “สัญญาประชาคมเขียนรัฐธรรมนูญใหม่” ที่บริเวณหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้กล่าวว่า ตนมาเดินชมนิทรรศการทั้ง 9 กลุ่ม และเห็นว่าทั้งหมดล้วนเป็นประเด็นที่ถกเถียงเพื่อนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน และมีการยื่นร่างรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาเพื่อให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมไปหลายฉบับ โดยเฉพาะในส่วนของการให้ตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมาเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยไม่มีการแก้ไขหมวด 2 และจากการที่พรรคได้ยื่นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการยื่นไปแล้วทั้ง 2 กรณี คือเสนอแก้ไขเป็นรายมาตรา และเสนอให้ตั้ง ส.ส.ร. โดยต้องยอมรับว่าเสียงจาก ส.ว. เป็นอุปสรรคที่สำคัญ

เนื่องจากในการแก้รัฐธรรมนูญนั้นประกอบด้วย 3 วาระ วาระที่ 1 จะต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ถึง 1 ใน 3 คือจำนวน 84 เสียง ดังนั้นหากมีการยื่นแก้ไขในมาตราที่จะไปกระทบต่ออำนาจหน้าที่ของ ส.ว. ก็อาจได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ไม่ถึง 1 ใน 3 และจะทำให้การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไปตั้งแต่วาระแรกทันที นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญ ปี 60 ยังมีการบังคับไว้ในวาระ 3 อีกด้วย ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. ในจำนวน 84 เสียง ดังนั้นสิ่งนี้คืออุปสรรคในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เกิดความสมบูรณ์

นายราเมศ กล่าวว่า ความตั้งใจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประสบความสำเร็จของพรรคประชาธิปัตย์นั้น เราต้องการทำให้รัฐธรรมนูญที่แก้ไขได้ยากให้เป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขได้ง่ายขึ้นก่อน ด้วยแก้ไขมาตรา 256 รวมไปถึงเรื่องการตัดอำนาจ ส.ว. และการตั้ง ส.ส.ร. ที่ประชาชน และทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม โดยในร่างของประชาธิปัตย์นั้น กำหนดให้มี ส.ส.ร. 200 คน และจำนวน 150 คน ต้องมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งพี่น้องประชาชนสามารถลงสมัครเพื่อเป็น ส.ส.ร ได้ด้วย นอกจากนี้ ส.ส.ร. ยังต้องประกอบด้วย นิสิต นักศึกษา และผู้เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วน

ต่อคำถามว่า ประชาธิปัตย์ได้ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องใดที่เป็นประโยชน์กับประชาชนบ้างนั้น โฆษกพรรค กล่าวว่า พรรคไม่ได้ยื่นขอแก้ไขเฉพาะโครงสร้างทางการเมืองเท่านั้น แต่พรรคได้เสนอแก้ไขใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย เรื่องสิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภค สิทธิที่ดินทำกิน สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากเห็นว่ารัฐธรรมนูญ ปี 60 ได้ลิดรอนอำนาจของประชาชนให้ลดน้อยถอยลงในหลายกรณี ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดึงสิ่งเหล่านี้กลับมาให้พี่น้องประชาชน

ส่วนสาระสำคัญในการยื่นแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ยื่นเสนอขอแก้ไขไปแล้วนั้น จากการที่รัฐธรรมนูญฉบับก่อน ปี 60 เคยมีการระบุเกี่ยวกับเรื่องสิทธิชุมชนไว้ว่าให้มีคณะกรรมการอิสระเข้ามาดูแลเรื่องสิทธิความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม แต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ได้ตัดเรื่องนี้ออกไปทั้งหมด นอกจากนี้ยังเห็นว่าในเรื่องสิทธิผู้บริโภค สิทธิที่ดินทำกินก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจากการที่ตนลงพื้นที่หลายจังหวัดก็พบว่า มีพี่น้องประชาชนประสบปัญหาเรื่องที่ดินทำกินเป็นจำนวนมาก เนื่องจากถูกเขตป่าสงวนขีดทับที่ดินทำกินที่พี่น้องประชาชนอยู่กินกันมาก่อนเป็นร้อยปี เรื่องเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องการกำหนดไว้ให้เป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานให้กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการจัดสรรที่ดินทำกิน ก็จะต้องจัดสรรด้วยความเป็นธรรม รวมไปถึงเรื่องน้ำด้วยเพราะน้ำคือชีวิต และนโยบายรอบหน้าของพรรค เราก็จะนำเอาประเด็นเหล่านี้ และเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมาผลักดันต่อไป

สำหรับ ถามว่า มีเรื่องใดบ้างจากข้อเสนอของรัฐธรรมนูญคนจน ที่พรรคจะได้รับไว้นั้น โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญคนจน เป็นรัฐธรรมนูญของผู้ยิ่งใหญ่ ดังนั้นจากเอกสารที่ยื่นมาก็พบว่ามีหลายเรื่องตรงกัน นอกจากเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิที่ดินทำกินแล้ว ก็ยังมีเรื่องแรงงาน เรื่องการศึกษา ทุกอย่างครอบคลุม และสิ่งนี้ถือว่าเป็นการมารับฟังเสียงสะท้อนจากพี่น้องประชาชนซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลที่สำคัญที่สุด และในฐานะพรรคการเมืองจะต้องรับเพื่อนำไปปรับปรุง และทำให้สอดคล้องกับความเป็นจริง สำหรับทำให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

Message us