นักวิชาการ แนะ “ก้าวไกล” ปิดสวิตช์ ส.ว. ถอยเป็นฝ่ายค้าน

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2566 รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เสนอแนวคิดภายหลังการหารือระหว่างพรรคเพื่อไทยกับ 3 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนากล้าและพรรครวมไทยสร้างชาติเพื่อปลดล็อคสู่การจัดตั้งรัฐบาลว่า พรรคเพื่อไทย พยายามแสดงให้เห็นถึงความใจกว้าง และไม่สร้างเงื่อนไขทางการเมือง สอดรับกับความรู้สึกของคนจำนวนมากที่ต้องการเห็นรัฐบาลใหม่ และต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเชื่อว่า การได้เพื่อไทย มาจัดจัดตั้ง เท่ากับโฉมหน้าการเมืองไม่เหมือนเดิม นโยบายเศรษฐกิจ แบบเพื่อไทย ก็ไม่ใช่นโยบายเศรษฐกิจแบบ 2 ลุงแล้ว

ดังนั้น พรรคเพื่อไทย เลือกที่จะพูดคุยกับทุกพรรค โดย เชื่อว่า บางพรรคมีความสัมพันธ์กับ ส.ว.ด้วย ถ้าได้มาร่วมจริงๆ จะทำให้การตั้งรัฐบาลสำเร็จได้อย่างแน่นอน

รศ.ดร.โอฬาร กล่าวต่อว่า ปัญหาคือ มันยังเป็น ภาพของอนาคต ที่สวยหรู เพราะ จะเห็นว่าหลายพรรคปฏิเสธแนวทางของพรรคก้าวไกล ชนิดที่ร่วมงานกันไม่ได้ ซึ่งเป็นสิทธิ์ของแต่ละพรรคในการตัดสินใจ กระทั่ง ก้าวไกล ก็ไม่ผิดที่ไม่ยอมลดเพดานทางอุดมการณ์ เพื่อปกป้องความเชื่อถือของพรรค

“เมื่อพรรคก้าวไกล เดินมาถึงจุดนี้ ก็ต้องทบทวนแนวทางในอดีต ที่พรรค ก้าวไกลเคยเรียกร้อง ให้พรรคการเมืองอื่นๆ โหวตให้รัฐบาลก้าวไกล โดยไม่ขอเข้าร่วม เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.มาครั้งนี้ ก้าวไกล ก็ต้องทบทวนในสิ่งที่เคยสื่อสารเอาไว้ เพียงแต่กลับกัน เป็นพรรคก้าวไกล ควรถอยออกไปเอง และไม่ร่วมตั้งรัฐบาล เพื่อปิดสวิตช์สภาสูง ซึ่งจะหมายถึงการปิดสวิตช์ไม่ให้ผู้มีอำนาจบางคนกลับเข้ามาอยู่ในเกมด้วย ทั้งนี้ หากก้าวไกล ดึงดันจะไปแบบนี้ อย่าลืมว่า เพื่อไทย มีโอกาสโหวตจำกัด หาก แคนดิเดตถูกตีตก ครบ เราได้เห็นคนหยิบชิ้นปลามันแน่นอน ถ้ามาเกมนั้น จะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ก้าวไกล สามารถพิจารณาตัวเอง ได้ว่า จะสละตัวเอง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะบวกเพิ่มเป็นคะแนนในอนาคต หรือจะรั้งทุกอย่างไว้ให้อยู่กับที่” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ระบุ

Message us