ทีมวิจัยกรมอุทยานฯค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกใน”สกุลหยาด” 4 ชนิดดอกสวยงาม

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ทีมนักวิจัยจากกรมอุทยานแห่งชาติ ฯ ได้ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลหยาด (Microchirita) จำนวน 4 ชนิด ในพื้นที่จำกัดบนระบบนิเวศเขาหินปูนในจังหวัดสระบุรี ระยอง และลพบุรี โดยนักวิจัยกรมอุทยานแห่งชาติฯ ประกอบด้วย น.ส.นัยนา เทศนา นายพาโชค พูดจา นายธีรวัฒน์ ทะนันไธสง นายคุณานนต์ ดาวนุไร และนายสมราน สุดดี หน่วยงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช และ นายเกริกวิทย์ ภูมิพยัคฆ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์ จ.ลพบุรี ได้สำรวจและเก็บตัวอย่างตามวิธีการด้านพฤกษศาสตร์ ร่วมมือกับ Dr. David Middleton ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชวงศ์ชาฤๅษี (Gesneriaceae) ในการตรวจสอบและยืนยันชนิด แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการกระจายพันธุ์ของพืชสกุลหยาด โดยพบถึง 41 ชนิดจากทั้งหมด 51-55 ชนิดทั่วโลก อย่างไรก็ตาม พืชชนิดใหม่ที่ค้นพบทั้ง 4 ชนิดนี้อยู่ในภาวะถูกคุกคามและใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากมีถิ่นที่อยู่อาศัยจำกัด

สำหรับ พืชชนิดใหม่ของโลก 4 ชนิด ได้แก่
1.หยาดวานรพักตร์ พบที่จังหวัดลพบุรี เป็นพืชที่น่าสนใจเพราะมีลักษณะเด่นคือดอกมีรูปร่างคล้ายหน้าลิง

หยาดวานรพักตร์


2.หยาดอรทัย พบบริเวณเขาหินปูน อ.เขาชะเมา จ.ระยอง ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 40 ซม. ดอกม่วงแดงอมน้ำเงิน หลอดกลีบดอกค่อนข้างแบน ทำให้ปากหลอดกลีบดกมีความกว้างมากกว่าสูง โคนหลอดกลีบดอกด้านในสีเหลืองอ่อน

หยาดอรทัย


3.หยาดพระโพธิสัตว์ พบบริเวณเขาหินปูน อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 50 ซม. ดอกสีขาว ด้านในหลอดกลีบดอกสีส้ม ด้านล่างสีเข้มกว่า มีเส้นหนาสีน้ำตาลแผ่เป็นรัศมี

หยาดพระโพธิสัตว์


4.หยาดถ้ำกระบอก พบบริเวณเขาหินปูน อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 30 ซม. ดอกสีขาว คอหลอดดอกและโคนกลีบปากด้านในสีเหลือง

หยาดถ้ำกระบอก

ภาพ/ข้อมูล : หอพรรณไม้ Forest Herbarium – BKF สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช

Message us