ถกด่วน 17 อุตสาหกรรมจังหวัดภาคเหนือเร่งออกมาตรการช่วยโรงงานถูกน้ำท่วม

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้เรียกประชุมผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมจังหวัดภาคเหนือทั้ง 17 จังหวัด เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ ณ อาคารประชาสัมพันธ์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (แม่เมาะ) จังหวัดลำปาง จากข้อมูลสรุปรายงานสถานการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา มี 14 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ เชียงราย พะเยา แพร่  สุโขทัย พิจิตร เพชรบูรณ์ (น้ำเริ่มลดลง) น่าน แม่ฮ่องสอน เลย หนองคาย อุดรธานี มหาสารคาม ตราด และภูเก็ต (น้ำลดลงแล้ว)

นอกจากนี้ มีสถานประกอบการได้รับความเสียหาย จำนวน 61 ราย คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 42.1 ล้านบาท คือ 1. แพร่ จำนวน 20 ราย  2. พะเยา จำนวน 2 ราย 3.เชียงราย จำนวน 4 ราย และ 4. น่าน จำนวน 35 ราย อยู่ระหว่างการสำรวจ ส่วนลูกค้ากองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ได้รับความเสียหาย จำนวน 19 ราย คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 9.77 ล้านบาท คือ 1. สุโขทัย จำนวน 1 ราย  2. น่าน จำนวน 14 ราย  3. เชียงราย จำนวน 2 ราย และ 4. พะเยา จำนวน 2 ราย

ทั้งนี้ ได้กำชับให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย เร่งสำรวจความเสียหายของสถานประกอบการโรงงานได้รับผลกระทบว่ามีกี่ราย เสียหายอย่างไรบ้าง และพื้นที่ที่น้ำเริ่มลดลง โดยขอให้ สอจ.ในพื้นที่  รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม​ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันอาหาร เร่งเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ดังนี้

1.จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ ทีมวิศวกร หรือช่างชุมชนของโครงการอาชีพช่าง เข้าปรับปรุง ซ่อมแซม ฟื้นฟู เครื่องจักร ระบบไฟฟ้า 2. จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าประเมินสภาพปัญหาให้คำปรึกษาปัญหาธุรกิจ วางแผน ฟื้นฟูสถานประกอบการ ผ่านศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม (DIPROM BSC)

3. จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปให้คำปรึกษาฟื้นฟูกระบวนการผลิต ระบบคุณภาพ GMP/HACCP/GHP  มาตรฐานความปลอดภัยผ่านศูนย์ DIPROM Center ในพื้นที่ส่วนภูมิภาค เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนสามารถกลับมาดำเนินการได้อย่างปกติโดยเร็ว

4.การพักชำระหนี้ สำหรับลูกหนี้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กองทุนฯ เร่งประสานไปยังลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และแจ้งมาตรการความช่วยเหลือเยียวยาพักชำระหนี้ 3 เดือน ให้ทราบโดยด่วน

อย่างไรก็ตาม ขอให้ทาง สอจ.ในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนรับมือในการแจ้งเตือนสถานประกอบการในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และทันท่วงที ส่วนพื้นที่เฝ้าระวัง ให้ประเมินความเสี่ยงการเกิดน้ำท่วม สำรวจและคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน ประเมินความพร้อมระบบป้องกันน้ำท่วม เช่น เขื่อนรอบนิคม เครื่องสูบน้ำ อุปกรณ์ระบายน้ำ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้ และเฝ้าระวังการรั่วไหลของสารเคมี วัตถุอันตรายในโรงงาน

ขณะเดียวกัน ให้เร่งตรวจสอบและเตรียมการขนย้ายหรือเตรียมแผนรักษาความปลอดภัยในโรงงาน โดยขอให้ทาง สอจ. กำชับแจ้งเตือนสถานประกอบการให้ปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันอุทกภัยในโรงงานอุตสาหกรรม ตามแผนป้องกันและแก้ไขภัยพิบัติกรณีเกิดอุทกภัยเพื่อรองรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อป้องกันหรือบรรเทาความรุนแรง และความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สิน อาคารโรงงาน เครื่องจักร อุปกรณ์ และระบบไฟฟ้า

สำหรับ การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อุทกภัย ขอให้ สอจ.ในพื้นที่เร่งช่วยเหลือประชาชนโดยรอบโรงงานอุตสาหกรรม และรอบสอจ.ส่งมอบถุงยังชีพรวมใจส่งมอบรอยยิ้ม เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบอุทกภัยในการก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ ซึ่งเป็นการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ผ่านกิจกรรม “อุตสาหกรรมรวมใจ ช่วยพี่น้องชาวไทย”

Message us