คนเลี้ยงหมูยื่นนายกฯค้านนำเข้าหมูสหรัฐฯต่อรองกำแพงภาษี ปธน.ทรัมป์

เมื่อวันที่ นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ นำกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูและตัวแทนสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคต่างๆ เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อให้ข้อมูลห่วงโซ่การผลิตหมูไทยทั้งระบบ หลังรัฐบาลไทยมีแนวคิดนำเข้าหมูจากสหรัฐเพื่อแก้ไขปัญหาดุลการค้าและลดแรงกดดันการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าไทยในอัตรา 37% พร้อมให้กำลังใจคณะทำงานของรัฐบาลไทย  ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการหามาตรการรองรับผลกระทบ และแนวทางเจรจากับสหรัฐอย่างเหมาะสม ปกป้องผลประโยชน์ชาติและสานความร่วมมือสองประเทศได้สำเร็จ

ทั้งนี้ นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายการเมือง) ให้ตัวแทนกลุ่มผู้เลี้ยงสุกร จำนวน 5 คน ได้เข้ามาพูดคุย หารือหาแนวทางต่างๆ พร้อมรับฟังปัญหาความต้องการของกลุ่มผู้เลี้ยงสุกร ในห้องประชุม ประมาณ 40 นาที ก่อนจะออกมารับหนังสือดังกล่าว

สำหรับ หนังสือดังกล่าว ระบุว่า เรื่อง ขอเสนอเพื่อแก้ปัญหาตามประกาศคำสั่งกำหนดภาษีนำเข้าต่างตอบแทนของสหรัฐอเมริกากับประเทศไทย ตามประกาศคำสั่ง Exocutive Orders ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ที่กำหนดอัตราภาษีนำเข้าต่างตอบแทน (Reciprocal Tants) สำหรับประเทศไทย ภายได้กฎหมาย Intemalional Emergency Economic Power Act of 1977 (IEEPA) เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 โดย Individualized Reciprocal Higher Tariff ประเทศไทยถูกกำหนดภาษีในอัตรา 36% โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายน 2568 นั้น

ก่อนหน้านี้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้มีการหารือกับกลุ่มภาคการผลิตปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และกลุ่มอาหารสัตว์ ภายใต้ชื่อ “สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” โดยมีข้อเสนอรายการสินค้าที่จะนำเข้าเพิ่มจากสหรัฐ เพื่อให้การเกินดุล และขาดดุลการค้าระหว่างไทย-สหรัฐแคบลง เพื่อลดแรงกดดันในการที่ต้องนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ที่จะมาสร้างผลกระทบกับเกษตรกร โดยเฉพาะผู้เลี้ยงสุกรภายในประเทศ หลังจากที่สมาคมฯ ได้ศึกษาข้อกฎหมายในการประกาศดังกล่าว ที่เป็นการเร่งแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งข้อเสนอในการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี กากถั่วเหลือง และ DDGSเพิ่มในลักษณะเปลี่ยนถิ่นกำเนิดของการนำเข้าเป็นสหรัฐอเมริกา ที่สามารถเพิ่มมูลค่าทางการค้าให้กับสหรัฐฯในการส่งสินค้ามายังประเทศไทยได้เป็นจำนวนถึง 84,000 ล้านบาท หรือ 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีตามข้อเสนอของสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำฯ ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 25668

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ จึงขอยืนแนวทางแก้ปัญหาการเกินดุลกับสหรัฐฯ ตามแนวทางเดียวกับสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำฯ โดยขอให้รัฐบาลละเว้นการพิจารณาที่จะนำเข้าสินค้าสุกร ทั้งเนื้อสุกรและเครื่องในเข้ามายังประเทศไทย ที่จะสร้างปัญหาให้กับผู้เลี้ยงสุกรของไทยหลังจากเผชิญปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในช่วงปี 2563-2565 และปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าสุกร อย่างมากในช่วงปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็น 2 วิกฤตการณ์ที่รุนแรงที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมสุกรไทย

ด้าน นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ กล่าวถึงแนวทางการนำเข้าสินค้าเกษตรกรรม จากสหรัฐอเมริกาว่า ต้องดูว่าไทยนำเข้าสินค้าทางการเกษตรอะไรบ้าง พร้อมตรวจสอบว่ามีบริษัทใดบ้างที่มีสวมสิทธิ์ประเทศไทยส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกา โดยจะส่งข้อมูลทั้งหมดให้คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐ ที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้น

เมื่อถามว่า จะมีการนำเข้าสินค้าประเภทใดบ้างเพื่อไม่ให้กระทบต่อเกษตรกรไทย นายนภินทร กล่าวว่า ต้องดูว่าสินค้าใดที่ไทยจำเป็นต้องใช้และไม่เพียงพอ แต่ก็ต้องหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรไทย หากการนำเข้ามามีราคาต่ำกว่าต้นทุนสินค้าของไทย ซึ่งต้องไปดูในรายละเอียดของแต่ละประเภทสินค้า 

นายนภินทร ยังเปิดเผยว่า ทราบถึงข้อเรียกร้องของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูที่เกรงว่าไทยจะยอมนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐอเมริกาจนกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ซึ่งเราได้ส่งข้อมูลให้คณะเจรจาที่มีอำนาจพิจารณาตัดสินใจแล้ว ส่วนกระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่ในการส่งข้อมูลให้ว่าจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทยอย่างไรบ้าง และหากมีผลกระทบจะให้ความช่วยเหลืออย่างไร

Message us