การเมืองเป็นเหตุทำดัชนีผู้บริโภคต่ำสุดในรอบ 14 เดือน

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ พร้อมด้วย นายวาทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และผศ.ดร.วชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สรุปผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกรกฎาคม 2566 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ที่ปรับตัวลดลงจากระดับ 56.7 เป็น 55.6 เป็นการปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือนตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลและเสถียรภาพทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง ซึ่งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและในอนาคค ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวลดลง

นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูงโดยเฉพาะค่าไฟฟ้ารวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทยทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลง และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค

ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ,ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 50.3 52.7 และ 63.9 ตามลำดับ ปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนมิถุนายน ที่อยู่ในระดับ 51.2 53.7 และ 65.1 ตามลำดับ แสดงว่าผู้บริโภคเริ่มกังวลเกี่ยวกับความผันผวนเศรษฐกิจไทย ส่วนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน ก็ปรับตัวลดลง จากระดับ 41.6 เป็น 40.7 เป็นการปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือนเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 63.9 มาอยู่ที่ระดับ 62.8

การที่ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ ราคาพลังงานและค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลง ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูงและจะยังมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้

หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วภายในเดือนสิงหาคมหรือกันยายนและรัฐบาลใหม่มีเสถียรภาพ คาดว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นได้

Message us